ประวัติการสร้างพระมหาพิชัยราชรถ และเวชยันตราชรถ

ประวัติการสร้างพระมหาพิชัยราชรถ และเวชยันตราชรถ

พระมหาพิชัยราชรถ สำหรับอัญเชิญพระบรมศพไปยังพระเมรุมาศที่สนามหลวง

 
พระมหาพิชัยราชรถ 

         พระมหาพิชัยราชรถ  ปรากฏบันทึกการสร้างในพระราชพงศาวดารว่า ...ปีเถาะ  สัปตศกพระโองการรับสั่งให้ช่างทำพิชัยราชรถที่จะทรงพระโกศพระอัฐิ ๗ รถ  ให้ตัดเสาพระเมรุตั้ง ทรงประดับเครื่องให้แล้วเสร็จในปีเถาะ” 

         การสร้างราชรถครั้งนั้นก็คือการสร้างพระมหาพิชัยราชรถขึ้น เพื่อการพระบรมศพพระปฐมบรมมหาชนก ใน พ.ศ. ๒๓๓๘  โดยโปรดให้สร้างเป็นราชรถขนาดใหญ่ตามแบบพระราชประเพณี ที่เคยมีมาครั้งกรุงศรีอยุธยา คือ มีขนาดสูง ๑,๑๒๐ เซนติเมตร ยาว ๑,๕๓๐ เซนติเมตร งานพระเมรุ พ.ศ. ๒๓๓๙ 

         ต่อมาใน พ.ศ. ๒๓๔๒  สมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระเทพสุดาวดี สิ้นพระชนม์  ก็โปรดให้อัญเชิญพระโกศทรงบนพระมหาพิชัยราชรถออกพระเมรุอีกครั้งหนึ่ง  นับจากนั้นพระมหาพิชัยราชรถก็ได้ถูกกำหนดให้เป็นราชรถเฉพาะ อัญเชิญพระบรมศพพระเจ้าแผ่นดินตลอดมา

         นอกจากนี้เพื่อให้การเคลื่อนย้ายเข้ากระบวนพระราชพิธีเป็นไปอย่างสะดวก และรู้สึกมีน้ำหนักเบาขึ้น  ต่อมากรมศิลปากรได้เล็งเห็นความสำคัญและความงดงามของงานศิลปกรรมประณีตศิลป์  จึงได้บูรณะซ่อมแซมเสริมความมั่นคงแก่พระมหาพิชัยราชรถขึ้นอีกครั้งหนึ่ง  เพื่อให้มรดกงานศิลปกรรมนี้อยู่คู่กับชาติไทยต่อไป การบูรณะพระมหาพิชัยราชรถสำเร็จในปี พ.ศ. ๒๕๓๐

      พระมหาพิชัยราชรถได้ชำรุดทรุดโทรมลงตามกาลเวลา  ได้มีการซ่อมแซมเพื่อใช้งานได้อยู่เสมอ ดังที่ปรากฏในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖  ในครั้งนั้นนอกจากซ่อมแซมให้สวยงามแล้ว ยังโปรดให้เพิ่มล้อขึ้นอีกที่ใต้ตัวราชรถทั้งนี้เพื่อให้รับน้ำหนักตัวราชรถและบุษบกยอด  และพระโกศที่ตั้งอยู่บนราชรถได้ทั้งหมด   

เวชยันตราชรถ 

เวชยันตราชรถ  สร้างในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
 

        เวชยันตราชรถ  เป็นราชรถอีกองค์หนึ่งที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่ออัญเชิญพระศพ สมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์  ในงานพระเมรุคู่กับสมเด็จพระพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระเทพสุดาวดี ซึ่งทรงใช้พระมหาพิชัยราชรถ พ.ศ. ๒๓๔๒  เวชยันตราชรถมีขนาดสูง ๑,๑๗๐ เซนติเมตร ยาว ๑,๗๕๐ เซนติเมตร 

         ภายหลังงานพระเมรุ พ.ศ. ๒๓๔๒ แล้ว เวชยันตราชรถก็ถูกใช้เป็นราชรถรองในงานพระเมรุพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลต่อมา  จนถึงงานพระเมรุพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาพระมหาพิชัยราชรถชำรุด ดังนั้นในงานพระเมรุพระบาทสมเด็จพระพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ ๘ จึงได้ใช้เวชยันตราชรถเป็นรถทรงพระบรมศพ โดยไม่มีราชรถรองในริ้วกระบวน 

         และแม้ในการพระเมรุอัญเชิญพระบรมศพสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีใน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ก็ได้ใช้เวชยันตราชรถ เป็นรถอัญเชิญพระบรมศพ เมื่อวันที่ ๙ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๘  ซึ่งกรมศิลปากรก็ได้ซ่อมแซมเสริมความมั่นคง และตกแต่งความสวยงามด้วยการลงรักปิดทองประดับกระจกในการนี้ด้วย และได้ออกหมายเรียกว่าพระมหาพิชัยราชรถ

ในกระบวนแห่พระบรมศพไปยังพระเมรุมาศ นอกจากพระมหาพิชัยราชรถ และเวชยันตราชรถยังมีราชรถน้อยอีก ๓ องค์  ราชรถน้อยมีลักษณะคล้ายราชรถองค์ใหญ่ทั้งสององค์ คือมีส่วนตัวรถที่แกะสลักลงรักปิดทองประดับกระจก  คานที่ยื่นออกมาเป็นรูปนาคราช บนราชรถมีบุษบกตั้งอยู่เช่นเดียวกัน เพียงแต่มีขนาดเล็กกว่ามาก 

         ราชรถน้อยองค์หนึ่งใช้เป็นราชรถที่สมเด็จพระสังฆราชประทับ  ทรงสวดนำกระบวนพระมหาพิชัยราชรถ  ราชรถองค์ที่สอง เป็นราชรถโยงผ้าจากพระบรมโกศ  จัดเป็นราชรถตามจากนั้นเป็นราชรถน้อยอีกองค์หนึ่ง  ใช้เป็นรถสำหรับพระบรมวงศานุวงศ์ผู้ใหญ่ประทับ เพื่อทรงโปรยทานพระราชทานแก่ประชาชนที่มาเฝ้ากราบพระบรมศพตามทางสู่พระเมรุมาศ 

         ต่อจากนั้นตามด้วยราชรถรอง คือ เวชยันตราชรถและรถประทับอื่น ๆ  ดังนั้นจะเห็นได้ว่าราชรถที่ใช้ในการพระบรมศพจริง ๆ มี ๕ องค์  ซึ่งล้วนสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช แห่งกรุงรัตนโกสินทร์  และได้นำออกใช้งานพระเมรุมาศทุกรัชกาลจนปัจจุบัน


ราชรถน้อยในกระบวนแห่พระบรมศพมี ๓ องค์
คือ สำหรับพระสงฆ์อ่านพระอภิธรรม ๑ โปรยข้าวตอกดอกไม้ ๑ และโยง ๑
 

คราวใดที่ราชรถองค์ใดชำรุดทรุดโทรม  ก็จะได้รับการบูรณะซ่อมแซมมาตลอด เพื่อให้มีสภาพที่ใช้การได้และเพื่ออนุรักษ์งานศิลปกรรมไทยไม้จำหลัก ที่ยิ่งใหญ่ไว้เป็นมรดกแห่งบรรพชนไทยตลอดไปชั่วกาลนาน อันจะก่อให้เกิดความภาคภูมิใจในอัจฉริยะของบรรพบุรุษทั้งในด้านภูมิปัญญา  และสุนทรียะที่เต็มไปด้วยความรอบรู้  ในปรัชญาทางศาสนาอย่างลึกซึ่งอีกด้วย 

         หากจะพิจารณาถึงความหมายและคติความเชื่อที่จินตนาการออกมาเป็นรูปร่างที่เห็นนั้น  จะพบว่า การให้รูปแบบเต็มไปด้วยปรัชญาทางความเชื่อ  ที่มีความหมายเกี่ยวกับเทพเจ้าที่พ้องกันทั้งในพระพุทธศาสนา และในศาสนาพราหมณ์ ก็คือเรื่องของจักรวาล 

         พระพุทธศาสนาจะกล่าวว่าจักรวาลประกอบด้วยทวีป ๔ ทวีป คือ อุตรกุรุทวีป อมรโคยานทวีป บุรพวิเทหทวีป และชมพูทวีป กับทั้งประกอบด้วยภูมิทั้ง ๓ คือ กามภูมิ รูปภูมิ และอรูปภูมิ  จักวาลนี้มีเขาพระสุเมรุเป็นศูนย์กลางและเป็นที่ประทับของพระอินทร์  ซึ่งทรงเป็นประธานเหนือเทพทั้งปวง

 

ส่วนในศาสนาพราหมณ์ ถือว่าเขาไกรลาสเป็นศูนย์กลางของจักรวาล  เป็นที่ประทับของพระศิวะ หรือพระอิศวร  รูปแบบของพระมหาพิชัยราชรถและเวชยันตราชรถ ก็น่าจะสร้างขึ้นตามคติความเชื่อในเรื่องของจักรวาลทางพระพุทธศาสนา เพราะเป็นการแสดงถึงว่า ได้ให้พระสงฆ์สวดนำวิญญาณไปสู่ที่สงบอันมีโลกุตร และนิพพานเป็นสำคัญ 

         รูปแบบของราชรถเป็นการจำลองเอาเฉพาะเขาพระสุเมรุเพียงองค์เดียว  โดยใช้รูปของบุษบกเป็นสัญลักษณ์ บุษบกเป็นอาคารโปร่งรูปสี่เหลี่ยมค่อนข้างจัตุรัส เปิดโล่งทั้ง ๔ ทิศ หลังคาเป็นชั้น ๆ ประกอบด้วยซุ้มรังไก่เรียงกัน ๓ ซุ้ม ชั้นแต่ละชั้นซ้อนลดหลั่นกันขึ้นไปดูเรียวแหลม 

         ในด้านสถาปัตยกรรมถือว่าเป็นการสร้างสรรค์ของช่างที่ทำให้หลังคาดูเบา และสวยงามไม่เทอะทะ  ตัวบุษบกหากจะเปรียบกับชั้นภูมิของจักรวาล ก็น่าจะเป็นชั้นอรูปภูมิได้ เพราะเป็นที่ประดิษฐานพระบรมโกศซึ่งบรรจุพระบรมศพ  ซึ่งเปรียบได้กับวิญญาณที่ไม่มีรูป ก็น่าจะเข้ากับคติความเชื่อนี้ได้  กับทั้งเป็นการเทิดพระบารมีแห่งองค์ในพระบรมโกศ ซึ่งเปรียบเสมือนทรงเป็นเทพในสัมปรายภพนั่นเอง

ราชรถโถง สำหรับอัญเชิญพระโกศพระศพของพระบรมวงศานุวงศ์ ตัวราชรถเป็นไม้จำหลักรูปพญานาค ลงรักปิดทอง เทียมลากด้วยม้า สร้างในสมัยรัตนโกสินทร์

ราชรถโถง สำหรับอัญเชิญพระโกศพระศพของพระบรมวงศานุวงศ์
ตัวราชรถเป็นไม้จำหลักรูปพญานาค ลงรักปิดทอง เทียมลากด้วยม้า
สร้างในสมัยรัตนโกสินทร์
 

บุษบกตั้งอยู่บนฐานที่ซ้อนกัน ๓ ชั้น  อันเปรียบได้กับภูมิทั้ง ๓ ภูมินั้น  จะเห็นว่า ฐานแต่ละชั้นมีรูปเทวดานั่งพนมมือเรียงรายอยู่โดยรอบ โดยมีพญานาค ๔ ตัว โอบอยู่โดยรอบด้านละ ๒ ตัว  ซึ่งหันเศียรออกไปทางทิศตรงกันข้าม ทำให้เห็นด้านข้างของราชรถ มีปลายที่งอนโค้งขึ้น  ดูคล้ายบุษบกมาลาที่ประกอบเป็นมุขบัญชร ในส่วนของท้องพระโรงที่พระเจ้าอยู่หัวเสด็จออกว่าราชการ

ดังนั้นจะเห็นว่าเทวดานั่งพนมมือและพญานาคนั้น  ก็เป็นสัญลักษณ์แห่งสวรรค์ชั้นรูปภูมินั่นเอง ฐานทั้ง ๓ ชั้นตั้งอยู่เหนือตัวรถ ที่ประกอบด้วยล้อขนาดใหญ่ ๔ ล้อ  และมีล้อเล็กอยู่แนวกลางใต้ฐาน และคันชักอีก ๒ จุด เพื่อรับน้ำหนักของราชรถทั้งคัน ดังนั้น ล้อ คาน และเพลา จึงต้องมีความแข็งแรงเป็นพิเศษด้วย  อันเปรียบได้กับโลกและกามภูมินั่นเอง 

 

เรียบเรียงจาก : กรมศิลปากร. กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์. เครื่องประกอบพระราชอิสริยยศ ราชยาน ราชรถ และพระเมรุมาศ. กรุงเทพฯ : กรม, ๒๕๓๙.

สร้างโดย: 
ครูพูนศักดิ์ สักกทัตติยกุล

มหาวิทยาลัยศรีปทุม ผู้ใหญ่ใจดี
 

 ช่วยด้วยครับ
นักเรียนที่สร้างบล็อก กรุณาอย่า
คัดลอกข้อมูลจากเว็บอื่นทั้งหมด
ควรนำมาจากหลายๆ เว็บ แล้ววิเคราะห์ สังเคราะห์ และเขียนขึ้นใหม่
หากคัดลอกทั้งหมด จะถูกดำเนินคดี
ตามกฎหมายจากเจ้าของลิขสิทธิ์
มีโทษทั้งจำคุกและปรับในอัตราสูง

ช่วยกันนะครับ 
ไทยกู๊ดวิวจะได้อยู่นานๆ 
ไม่ถูกปิดเสียก่อน

ขอขอบคุณในความร่วมมือครับ

อ่านรายละเอียด

ด่วน...... ขณะนี้
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 
มีผลบังคับใช้แล้ว 
ขอให้นักเรียนและคุณครูที่ใช้งาน
เว็บ thaigoodview ในการส่งการบ้าน
ระมัดระวังการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย
อ่านรายละเอียดที่นี่ครับ

 

สมาชิกที่ออนไลน์

ขณะนี้มี สมาชิก 0 คน และ ผู้เยี่ยมชม 505 คน กำลังออนไลน์