เรือในพระราชพิธี

ห้ามลบ ขอให้เจ้าของผลงานประกวด แก้ไขข้อมูลได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2551 เวลา 23.30 น.
หากเลยกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว ท่านเข้ามาแก้ไขข้อมูล ถือว่าโมฆะในการพิจารณาได้รับรางวัล
ซึ่งระบบของ Thaigoodview สามารถตรวจสอบได้ว่า ผลงานแต่ละชิ้น มีการแก้ไขเวลาใดบ้าง

ครูพูนศักดิ์ สักกทัตติยกุล


     

     
     

เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์

เรือเดิมมีนามว่า เรือศรีสุพรรณหงส์ สร้างในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ชื่อเรือพระที่นั่งนี้มีกล่าวถึงเป็นครั้งแรก ในสมัยกรุงศรีอยุธยาต้นรัชกาลพระมหาจักรพรรดิ ราว พ.ศ.๒๐๙๑ ลำปัจจุบันสร้างขึ้นในปลายสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ เพื่อทดแทนเรือลำเดิมที่ได้สร้างมาตั้งแต่รัชกาลพระบาทสมเด็จพระยุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ ๑ เรือลำนี้มาแล้วเสร็จในสมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ประกอบพิธีลงน้ำเมื่อวันที่ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๔๕๔ จัดเป็นเรือพระที่นั่งกิ่ง หัวเรือเป็นรูปหงส์ลงรักปิดทองประดับกระจก ภายนอกทาสีดำ ท้องเรือภายในทางสีแดง มีความยาว ๔๔.๙๐ เมตร ความกว้าง ๓.๑๔ เมตร ลึก .๙๐ เมตร กินน้ำลึก .๔๑ เมตร กำลัง ๓.๕๐ เมตร (พายครั้งหนึ่งแล่นไปได้ไกล ๓.๕๐ เมตร) ใช้ฝีพาย ๕๐ คน นายเรือ ๒ คน คนถือธงท้าย ๑ คน พลสัญญาณ ๑ คน และคนเห่เรือ ๑ คน

เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช

เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เป็นเรือพระที่นั่งกิ่ง ซึ่งมีโขนเรือเป็นรูปพญานาค ๗ เศียรนั้น สร้างขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์นั้น สร้างขึ้นใน สมัยรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงพระราชดำริว่าพระที่นั่งครุฑของเดิมก็มีอยู่แล้ว แต่พระที่นั่งนาคยังหามีไม่ จึงโปรดเกล้า โปรดกระหม่อมให้ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมขุนราชสีหวิกรม เอามาดเส้น ๔ ศอก ( มาดเส้น มาจากคำว่า “ มาดเหลา” ซึ่งหมายถึงเรือไม้ขุด ทั้งลำเรือ เกลาแต่ผิวให้เรียบ เรือที่มีขนาดใหญ่ที่ยาวเกิน ๑ เส้น หรือ ๔๐ เมตร ขึ้นไปเรียกว่ามาดเหลาเส้น เป็นการเรียกขนาดเรือไปด้วย ) ทำเป็นเรือพระที่นั่งนาค ๗ เศียร ชื่อว่าเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช
ในสมัยรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดใช้เรือพระที่นั่งอนันตนาคราช เป็นเรือพระที่นั่งลำทรง ซึ่งจะตั้งบุษบก ผูกม่านทำด้วย ผ้าตาดมีนักสราชประจำทั้งด้านหน้าและด้านหลังที่หัวเรือ ตั้งปืนจ่ารงคร่ำเงิน หน้าบุษบกจะตั้งเครื่องสูง ด้านหน้ามีฉัตร ๗ ชั้น ๑ องค์ ฉัตร ๕ ชั้น ๓ องค์ ด้านหลังบุษบกเป็นฉัตร ๗ ชั้น ๑ องค์ ๕ ชั้น ๒ องค์ และมีพระกลด พัดโบก บังพระสูรย์ บังแทรก( บังดั้น ) ด้านหน้าพระแท่นมีอาวุธผูกติด คือปืนนกสับ พระแสงง้าวนากถมเงิน ด้านท้ายพระแท่นมีทวน ๑ คู่ ขุนนางที่อยู่ประจำเรือ มีจมื่นมหาดเล็กข้างละ ๒ ท่าน สำหรับเชิญพระแสงตีนตอง มีจางวางปลัดทูลฉลองและหุ้มแพรอยู่หน้าพระที่ พวกพลเลวอยู่ท้าย ๒ คน พลพายใช้พายทองและฝีพายจะพายท่านกบิน เช่นเดียวกับเรือพระที่นั่ง สุพรรณหงส์
สำหรับเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช ลำปัจจุบันนี้สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ สำเร็จเมื่อวันที่ ๑๕ เมษายน พ.ศ.๒๔๕๗ แทนลำเดิมที่ได้สร้างมาตั้งแต่สมัยรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ เป็นเรือพื้นเขียว น้ำหนัก ๑๕.๓๖ ตัน กว้าง ๒.๙๕ เมตร ยาว ๔๒.๙๕ เมตร ลึก ๐.๗๖ เมตร กินน้ำลึก ๐.๓๑ เมตร ฝีพาย ๕๔ นาย นายท้าย ๒ นาย มีการซ่อมทำใหม่ พ.ศ.๒๕๑๒ อาจทำให้น้ำหนักเปลี่ยนไป พ.ศ.๒๕๑๐ ซ่อมแซมเพื่อใช้ชั่วคราวให้ทันใช้ในการเสด็จพระราชดำเนินถวายผ้าพระกฐิน โดยมี บริษัท สหายสันต์ จำกัด เป็นผู้รับเหมาการซ่อม ทำชั่วคราว ให้แล้วเสร็จภายใน ๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๐ พ.ศ. ๒๕๑๒ ซ่อมใหญ่ โดยซ่อมทำตัวเรือใหม่ทั้งหมด ตั้งแต่วันที่ ๒๖ กันยายน พ.ศ.๒๕๑๒ จนถึงวันที่ ๒๓ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๑๓ ต่อจากนั้น ได้ทำการซ่อมลวดลายเรือและเครื่องตกแต่งประกอบเรือตั้งแต่วันที่ ๙ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๓ จนถึงวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ.๒๕๑๕
พ.ศ. ๒๕๒๔ ซ่อมใหญ่ เปลี่ยนไม้ตัวเรือที่ผุชำรุดบางส่วน ตกแต่งลวดลาย ลงรักปิดทอง ทาสีตัวเรือใหม่ และอื่น ๆ เพื่อให้ทันใช้ในงานสมโภชกรุง รัตนโกสินทร์ ๒๐๐ ปี ในวันที่ ๕ เมษายน พ.ศ.๒๕๒๕ เริ่มซ่อมทำตั้งแต่ ๔ กันยายน พ.ศ.๒๕๒๔ จนถึงวันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ.๒๕๒๕ โดยมีบริษัท สหายสันต์ จำกัด เป็นผู้รับเหมาซ่อมทำ
   

เรือพระที่นั่งเอนกชาติภุชงค์

เรือพระที่นั่งเอนกชาติภุชงค์

เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ มีนายเรือ ๒ นาย นายท้าย ๒ นาย ฝีพาย ๖๑ นาย ใช้พายทองพายท่านกบินเช่นเดียวกับเรือพระที่นั่ง ไม่มีนัก สราชเชิญธง เพราะถือเป็นธรรมเนียมว่า เรือพระที่นั่งศรีถ้าทอดบังลังก์กัญญา ไม่มีธงท้าย เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ลำปัจจุบัน สร้างขึ้นในรัชกาล ที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นเรือพระที่นั่งสีพื้นชมพู น้ำหนัก ๗.๗ ตัน กว้าง ๓.๑๕ เมตร ยาว ๔๕.๔๐ เมตร ลึก ๑.๑๑ เมตร กินน้ำลึก ๑.๔๖ เมตร กำลัง ๓.๕ เมตร ซ่อมใหญ่ พ.ศ.๒๕๑๗ น้ำหนักอาจเปลี่ยนแปลงได้
โดยปกติเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนพยุหยาตราใหญ่นั้น จะทรงเครื่องบรมราชภูษิตาภรณ์ และทรงพระมหา มงกุฏ หรือพระชฎามหากฐินทรงพระมาลาเส้าสูง เรือที่ใช้ทรงเปลื้องเครื่องนี้เรียกว่า เรือพลับพลา เรือนี้จะเข้าเทียบท่าก่อน แล้วเรือพระที่นั่งลำทรง เทียบด้านนอกเรือพลับพลา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จสู่พลับพลาเปลื้องพระมหามงกุฏหรือพระชฎามหากฐินแล้ว จึงเสด็จขึ้น ตอนเสด็จลง ก็เช่นกัน เสด็จลงเรือพลับพลาทรงพระมหามงกุฏหรือพระชฎามหากฐินก่อน จึงเสด็จขึ้นประทับเรือพระที่นั่ง ในเวลาเสด็จกลับเรือพลับพลาแล่นหลัง เรือพระที่นั่ง
ในสมัยกรุงศรีอยุธยา และในรัชกาลที่ ๔ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีเรือพระที่นั่งศรีสมรรถไชย เป็นเรือพระที่นั่งสำหรับทรง เปลื้องเครื่อง เพราะมีการตั้งบัลลังก์บุษบก อัญเชิญพระชฎามหากฐิน นำหน้าเรือพระที่นั่งลำทรง ตั้งเครื่องสูงด้านหน้าฉัตร ๗ ชั้น ๑ องค์ ฉัตร ๕ ชั้น ๒ องค์ ด้านหลังบุษบกตั้งฉัตร ๗ ชั้น ๑ องค์ ฉัตร ๕ ชั้น ๒ องค์ ม่านบุษบกเป็นผ้าตาด มีตำรวจประจำเรือ ๖ นาย นักสราชนั่งเชิญธง ด้านหน้าและ ด้านหลัง ด้านละ ๑ นาย
ในรัชกาลปัจจุบัน เนื่องจากเรือพระที่นั่งศรีสมรรถไชย ชำรุดไม่สามารถซ่อมแซมได้ ดังนั้นเรือพระที่นั่งสำหรับทรงเปลื้อง เครื่อง จึงใช้เรือพระที่นั่งศรีแทนเรือพระที่นั่งกิ่ง คือใช้เรือพระที่นั่งอเนกชาติภุชงค์ แทน โดยการทอดบังลังก์

เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ 9

จัดสร้างขึ้น เพื่อเฉลิมฉลองในวโรกาส พระราชพิธีกาญจนาภิเษก แห่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ในวันที่ ๙ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๓๙ โดย กองทัพเรือ ร่วมกับ กรมศิลปากร ได้นำ โขนเรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ ที่สร้างขึ้น ในสมัยรัชกาลที่ ๓ และ รัชกาลที่ ๔ มาเป็นต้นแบบ โดยกองทัพเรือ สร้างในส่วนที่เป็นโครงสร้างเรือ พาย และคัดฉาก ส่วนกรมศิลปากร ดำเนินการในงานที่เกี่ยวกับ ศิลปกรรมของเรือทั้งหมด จัดเป็นเรือพระที่นั่งกิ่ง ลำเดิมสร้างขึ้น ในสมัย รัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ มีชื่อว่า “มงคลสุบรรณ” หัวเรือเป็นรูป พระครุฑพ่าห์ ต่อมา ในรัชกาลที่ ๔ ได้เสริมรูปพระนารายณ์ ยืนประทับบนหลังพญาสุบรรณ แล้วขนานนามว่า “เรือนารายณ์ทรงสุบรรณ” ต่อมา เรือได้เสื่อมสภาพลง คงเหลือแต่โขนเรือ เก็บรักษาไว้ แต่เนื่องจากความงดงาม และความสำคัญ ในสัญลักษณ์ของโขนเรือ ที่เป็นเชิงเทิดพระเกียรติ สถาบันพระมหากษัตริย์ ใน พ.ศ. ๒๕๓๙ กองทัพเรือ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) กรมอู่ทหารเรือ และกรมศิลปากร ได้ร่วมกันจัดสร้าง เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ ลำใหม่ น้อมเกล้าฯ ถวาย และได้รับพระราชทานนามว่า “เรือพระที่นั่งนารายณ์ทรงสุบรรณ รัชกาลที่ ๙” เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งพระบรมเดชานุภาพ และเป็นเกียรติยศสำหรับแผ่นดิน สืบไป

ลักษณะโขนเรือ โขนเรือ จำหลักรูปพระนารายณ์ ๔ กร ทรงเทพศาสตรา ตรี คฑา จักร สังข์ ทรงเครื่องภูษิตาภรณ์ และ มงกุฏยอดชั ประทับยืนบนหลังพญาครุฑ ซึ่งเป็นโขนเรือ แกะสลักจากไม้ ลงรักปิดทองประดับกระจกตลอดทั้งลำ ลวดลายเขียนลาย ดอกพุดตานพื้น ส่วนท้ายเรือ มีลักษณะคล้าย ท้ายเรือพระที่นั่งอนันตนาคราช แต่ส่วนเหนือมาลัยท้าย เป็นสร้อยหางครุฑ ปลายหางสุดของท้ายเรือเป็นกนกหางครุฑ ท้องลายของท่อนหางเป็นขนครุฑสีพื้นเรือหรือสีท้องเรือ เป็นสีแดงชาด ใช้ตัวบัลลังก์กัญญาเรือ เช่นเดียวกับเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ เป็นลวดลายแกะสลัก ลงรักปิดทอง ประดับกระจกแผงพนักพิง แกะสลักลวดลาย เป็นรูปครุฑยุดนาค ลงรักปิดทอง ประดับกระจก ภายในเหมือนเรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ลูกแก้วรับขื่อ เป็นไม้แกะสลัก ลงรักปิดทอง ประดับกระจก เสาสองต้นทาสีดำส่วนพายกับฉาก ลงรักปิดทอง การวางฉัตร ให้เว้น ๒ กระทงต่อ ๑ ฉัตร ผ้าดาดหลังคากัญญาเรือ เป็นทองแผ่ลวด ลายโคมแย่ง ลงรักปิดทอง ประดับกระจก พื้นแดงลายจั่ว และลายผ้าม่านโดยรอบ ประดับด้วยทองแผ่ลวด ขนาดของเรือ มีความยาว ๔๔.๓๐ เมตร ความยาวแนวน้ำหนักบรรทุกเต็มที่ ๓๔.๖๐ เมตร ความกว้าง ๓.๒๐ เมตร ความลึก ๑.๑๐ เมตร กินน้ำลึก ๐.๔๐ เมตร ระวางน้ำบรรทุกขับเต็มที่ ๒๐ ตัน มีฝีพาย ๕๐ นาย สิ้นค่าใช้จ่ายประมาณ ๑๑.๗ ล้านบาท

เรือเอกไชยเหินหาว

- ลำเดิมไม่พบหลักฐานที่สร้าง และเรือลำนี้ได้ถูกระเบิดได้รับความเสียหายใน สงครามโลก ครั้งที่ 2           พ.ศ.2487 ต่อมากรมศิลปากรได้ตัดหัวเรือและท้ายเรือเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ เมื่อปี 2491
- ลำปัจจุบัน สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๘ โดยกรมอู่ทหารเรือ วางกระดูกงูเรือเมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ.2508 เริ่มสร้างเมื่อ 4 มิถุนายน พ.ศ.2508 ลงน้ำเมื่อ 18 กันยายน 2510 จากนั้นจึงทำการตกแต่งตัวเรือโดยช่างแกะสลักทำงานประมาณ 14 เดือนช่างรักปิดทองทำงาน 6 เดือน ช่างเขียนลายรดน้ำทำงานประมาณ 6 เดือน ช่างปิดทองและประดับกระจกทำงานประมาณ 4 เดือน
- พ.ศ.2524 ซ่อมใหญ่ เปลี่ยนไม้ตัวเรือที่ผุซึ่งชำรุดบางส่วน ลงรักปิดทอง ทาสีตัวเรือใหม่และอื่นๆ เพื่อให้ทันใช้ในงานสมโภชน์กรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ในวันที่ 5 เมษายน พ.ศ.2525 เริ่มซ่อมทำตั้งแต่ 4 กันยายน พ.ศ.2524 จนถึงวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ.2525 โดยมี บริษัท สหายสันต์ จำกัด เป็นผู้รับเหมาซ่อมทำ

 เรือเอกไชยหลาวทอง

 ลำเดิมไม่พบหลักฐานที่สร้าง และเรือลำนี้ได้ถูกระเบิดได้รับความเสียหายในสงครามโลก ครั้งที่ 2 พ.ศ.2487 ต่อมากรมศิลปากรได้ตัด หัวเรือและท้ายเรือเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์ เมื่อปี 2491
- ลำปัจจุบัน สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๘ โดยกรมอู่ทหารเรือ วางกระดูกงูเรือเมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ.2508 เริ่มสร้างเมื่อ 21 เมษายน พ.ศ.2508 ลงน้ำเมื่อ 19 กันยายน 2510 จากนั้นจึงทำการตกแต่งตัวเรือโดยช่างแกะสลักทำงานประมาณ 14 เดือน ช่างรักปิดทองทำงาน 6 ช่างปิดทองและประดับกระจกทำงานประมาณ 4 เดือน
- พ.ศ.2524 ซ่อมใหญ่ เปลี่ยนไม้ตัวเรือที่ผุซึ่งชำรุดบางส่วน ลงรักปิดทอง ทาสีตัวเรือใหม่และอื่น ๆ เพื่อให้ทันใช้ในงานสมโภชน์กรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ในวันที่ 5 เมษายน พ.ศ.2525 เริ่มซ่อมทำตั้งแต่ 4 กันยายน พ.ศ.2524 จนถึงวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ.2525 โดยมี บริษัท สหายสันต์ จำกัด เป็นผู้รับเหมาซ่อม
 
 
 
 
   

   
     
     
     
     
     
     
     
สร้างโดย: 
นางสิอร นิลมณี

มหาวิทยาลัยศรีปทุม ผู้ใหญ่ใจดี
 

 ช่วยด้วยครับ
นักเรียนที่สร้างบล็อก กรุณาอย่า
คัดลอกข้อมูลจากเว็บอื่นทั้งหมด
ควรนำมาจากหลายๆ เว็บ แล้ววิเคราะห์ สังเคราะห์ และเขียนขึ้นใหม่
หากคัดลอกทั้งหมด จะถูกดำเนินคดี
ตามกฎหมายจากเจ้าของลิขสิทธิ์
มีโทษทั้งจำคุกและปรับในอัตราสูง

ช่วยกันนะครับ 
ไทยกู๊ดวิวจะได้อยู่นานๆ 
ไม่ถูกปิดเสียก่อน

ขอขอบคุณในความร่วมมือครับ

อ่านรายละเอียด

ด่วน...... ขณะนี้
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 
มีผลบังคับใช้แล้ว 
ขอให้นักเรียนและคุณครูที่ใช้งาน
เว็บ thaigoodview ในการส่งการบ้าน
ระมัดระวังการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย
อ่านรายละเอียดที่นี่ครับ

 

สมาชิกที่ออนไลน์

ขณะนี้มี สมาชิก 0 คน และ ผู้เยี่ยมชม 416 คน กำลังออนไลน์