หลักการสังเกตคำไทยแท้และคำเขมร คำบาลีสันสกฤต

หลักการสังเกตคำไทยแท้และคำเขมร คำบาลีสันสกฤต 

ลักษณะคำไทยแท้ คำเขมร คำบาลี สันสกฤต 

         ๑.คำไทยแท้ส่วนมากมีพยางค์เดียว ไม่ว่าจะเป็นคำนาม สรรพนาม วิเศษณ์ บุพบท สันธาน อุทาน ฯลฯ ซึ่งเรียกว่าภาษาคำโดด เช่น ลุง ป้า น้า อา กา ไก่ ฯลฯ มีคำไทยแท้หลายคำที่มีหลายพยางค์ เช่น มะม่วง สะใภ้ ตะวัน กระโดด มะพร้าว ทั้งนี้เพราะสาเหตุที่เกิดจาก
๑.๑ การกร่อนเสียง คำ ๒ พยางค์เมื่อพูดเร็วๆ เข้า คำแรกจะกร่อนลง เช่น
มะม่วง - หมากม่วง
ตะคร้อ – ต้นคร้อ
สะดือ - สายดือ
มะตูม - หมากตูม
๑.๒ การแทรกเสียง คือคำ ๒ พยางค์เรียงกันแล้วมีเสียงแทรกตรงกลาง เช่น
ลูกกระดุม - ลูกดุม
ผักกระถิน - ผักถิน
นกกระจอก - นกจอก
ลูกกระเดือก - ลูกเดือก
๑.๓ การเติมพยางค์หน้าคำมูลโดยเติมคำให้มีความหมายใกล้เคียงกัน เช่น
จุ๋มจิ๋ม - กระจุ๋มกระจิ๋ม
เดี๋ยว - ประเดี๋ยว
ท้วง - ประท้วง
ทำ - กระทำ
         ๒. คำไทยแท้ไม่มีตัวการันต์ ไม่นิยมคำควบกล้ำแต่มีเสียงควบกล้ำอยู่บ้างเป็นการควบกล้ำด้วย ร,ล,ว และมีตัวสะกดตรงตามมาตรา เช่น เชย สาว จิก กัด ฯลฯ
         ๓. คำไทยแท้มีวรรณยุกต์ทั้งมีรูปและไม่มีรูป เพื่อแสดงความหมาย เช่น ฉันอ่านข่าวเรื่องข้าว
         ๔. การเรียงคำในภาษาไทยสับที่กันทำให้ความหมายเปลี่ยนไป เช่น
        ใจน้อย - น้อยใจ
        กลัวไม่จริง - จริงไม่กลัว
        ๕. คำไทยจะใช้รูป “ไอ” กับ “ใอ” จะไม่ใช้รูป “อัย” เลย และจะไม่พบพยัญชนะต่อไปนี้ ฆ ณ ฌ ฎ ฏ ฐ ฑ ฒ ธ ศ ษ ฬ ยกเว้นคำบางคำที่เป็นคำไทย คือ ฆ่า เฆี่ยน ศึก ศอก เศิก เศร้า ธ ณ ฯพณฯ ใหญ่ หญ้า เป็นต้น
        คำไทยแท้มีตัวสะกดตรงตามมาตราตัวสะกด มาตราตัวสะกดมี 8 มาตรา คำไทยจะสะกดตรงตามมาตราตัวสะกดและไม่มีการันต์ เช่น
มาตราแม่กก ใช้ ก สะกด เช่น มาก จาก นก จิก รัก   มาตราแม่กด ใช้ ด สะกด เช่น กัด ตัด ลด ปิด พูด
มาตราแม่กบ ใช้ บ สะกด เช่น จับ จบ รับ พบ ลอบ   มาตราแม่กน ใช้ น สะกด เช่น ขึ้น อ้วน รุ่น นอน กิน
มาตราแม่กง ใช้ ง สะกด เช่น ลง ล่าง อ่าง จง พุ่ง แรง  มาตราแม่กม ใช้ ม สะกด เช่น ลาม ริม เรียม ซ้อม ยอม
มาตราแม่เกย ใช้ ย สะกด เช่น ยาย โรย เลย รวย เฉย  มาตราแม่เกอว ใช้ ว สะกด เช่น ดาว เคียว ข้าว เรียว เร็ว
       คำที่มีมาตราตัวสะกดไม่ตรงตามมาตราตัวสะกด จะเป็นคำที่เป็นภาษาอื่นที่ยืมมาใช้ในภาษาไทย
ภาษาเขมรในภาษาไทย
ภาษาเขมรเข้ามาสู่ประเทศไทยโดยทางการค้า ทางสงครามการเมืองและวัฒนธรรม  คำที่มาจาก
ภาษาเขมรส่วนใหญ่ที่พบมักใช้ในวรรณกรรม  วรรณคดี  คำราชาศัพท์  และใช้ในชีวิตประจำวัน มีหลักในการสังเกตดังนี้  
     ๑) คำภาษาเขมรมักไม่มีวรรณยุกต์
     ๒) คำภาษาเขมรมักไม่ประวิสรรชนีย์ 
     ๓) มักใช้  ร  ล  ญ  เป็นตัวสะกดในมาตรา  แม่ กน
     ๔) มักใช้  จ  ส  เป็นตัวสะกดในมาตรา  แม่ กด
     ๕) มักเป็นคำควบกล้ำและอักษรนำ
     ๖) คำราชาศัพท์บางคำมาจากภาษาเขมร
    ๗) คำที่ขึ้นต้นด้วย  บัง    บัน    บำ     บรร   มักมาจากภาษาเขมร 
  ๘) คำที่ขึ้นต้นด้ววย   กำ   คำ   จำ    ชำ    ดำ   ตำ     ทำ  มักมาจากภาษาเขมร
๙) คำภาษาเขมรส่วนใหญ่มักแผลงคำได้
การสังเกตคำภาษาเขมรมีวิธีการดังนี้
      -  คำไทยที่มาจากภาษาเขมรมักใช้พยัญชนะ  จ ญ  ร ล สะกด  เช่น  เผด็จ  สมเด็จ  เดิร ( เดิน ) ถวิล  ชาญ
     -   คำไทยที่มาจากภาษาเขมรมักเป็นคำควบกล้ำและเป็นคำมากพยางค์ เช่น  ขลาด  โขมด  โขนง  เสวย  ไถง  กระบือ
     -  คำไทยที่มาจากภาษาเขมรมักใช้ บัง  บัน  บำ  แทน  บ เช่น 
            บัง     บังคับ  บังคม  บังเหียน  บังเกิด  บังคล  บังอาจ
            บัน    บันได  บันโดย  บันเดิน  บันดาล  บันลือ
           บำ     บำเพ็ญ  บำบัด  บำเหน็จ  บำบวง
     - คำไทยที่มาจากภาษาเขมรโดยแผลงคำมีหลายพวก 
             -  ข  แผลงเป็น  กระ  เช่น  ขดาน  เป็น กระดาน   ขจอก เป็น  กระจอก
            -   ผ แผลงเป็น  ประ ผสม  -  ประสม    ผจญ - ประจญ  
            -  ประ  แผลงเป็น  บรร  ประทม เป็น บรรทม  ประจุ -  บรรจุ   ประจง  -  บรรจง
     -  คำไทยที่มาจากภาษาเขมรที่เป็นคำโดด เช่น  แข  โลด  เดิน  นัก  อวย  ศก  เลิก

หลักการสังเกตคำภาษาบาลีสันสกฤตในภาษาไทย
ลักษณะของภาษาบาลีและสันสกฤต
ภาษาบาลีและสันสกฤตอยู่ในตระกูลภาษาที่มีวิภัตปัจจัย  คือเป็นภาษาที่ที่มีคำเดิมเป็นคำธาตุ  เมื่อจะใช้คำใดจะต้องนำธาตุไปประกอบกับปัจจัยและวิภัตติ  เพื่อเป็นเครื่องหมายบอกพจน์ ลิงค์ บุรุษ กาล มาลา วาจก   โครงสร้างของภาษาประกอบด้วย ระบบเสียง หน่วยคำ และระบบโครงสร้างของประโยค  ภาษาบาลีและสันสกฤตมีหน่วยเสียง 2 ประเภท คือ หน่วยเสียงสระและหน่วยเสียงพยัญชนะ ดังนี้
หน่วยเสียงสระ
หน่วยเสียงสระภาษาบาลีมี 8 หน่วยเสียง  คือ  อะ อา  อิ อี  อุ อู  เอ โอ
หน่วยเสียงภาษาสันสกฤต ตรงกับภาษาบาลี 8 หน่วยเสียง และต่างจากภาษาบาลีอีก 6 หน่วยเสียง เป็น 14 หน่วยเสียง คือ อะ อา  อิ อี  อุ อู  เอ โอ   ไอ เอา ฤ ฤา ฦ ฦๅ
หน่วยเสียงพยัญชนะ
หน่วยเสียงพยัญชนะภาษาบาลีมี 33 หน่วยเสียง  ภาษาสันสกฤตมี 35 หน่วยเสียง เพิ่มหน่วยเสียง ศ ษ
ซึ่งหน่วยเสียงพยัญชนะทั้งสองภาษานี้แบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ  พยัญชนะวรรค และพยัญชนะเศษวรรค
วิธีสังเกตคำบาลี 
สังเกตจากพยัญชนะตัวสะกดและตัวตาม
ตัวสะกด คือ  พยัญชนะที่ประกอบอยู่ข้างท้ายสระ ประสมกับสระและพยัญชนะต้น เช่น ทุกข์ (ก = ตัวสะกด)
ตัวตาม คือ ตัวที่ตามหลังตัวสะกด เช่น สัตย สัจจ ทุกข เป็นต้น   คำในภาษาบาลี จะต้องมีสะกดและตัวตามเสมอ โดยดูจากพยัญชนะบาลี มี 33 ตัว แบ่งออกเป็นวรรคดังนี้   
แถวที่ 1 2 3 4 5
วรรค กะ ก ข ค ฆ ง
วรรค จะ จ ฉ ช ฌ ญ
วรรค ฏะ ฏ ฐ ฑ ฒ ณ
วรรค ตะ ต ถ ท ธ น
วรรค ปะ ป ผ พ ภ ม
เศษวรรค ย ร ล ว ส ห ฬ อํ
มีหลักสังเกตตัวสะกดดังนี้
พยัญชนะตัวที่ 1 , 3 , 5 เป็นตัวสะกดได้เท่านั้น (ต้องอยู่ในวรรคเดียวกัน)
ถ้าพยัญชนะตัวที่ 1 สะกด ตัวที่ 1 หรือตัวที่ 2 เป็นตัวตามได้ เช่น สักกะ ทุกข สัจจ  ปัจฉิม สัตต หัตถ บุปผา เป็นต้น
ถ้าพยัญชนะตัวที่ 3 สะกด ตัวที่ 3 หรือ 4 เป็นตัวตามได้ในวรรคเดียวกัน เช่น  อัคคี พยัคฆ์ วิชชา อัชฌา พุทธ คัพภ (ครรภ์)
ง. ถ้าพยัญชนะตัวที่ 5 สะกด ทุกตัวในวรรคเดียวกันตามได้ เช่น องค์ สังข์ องค์ สงฆ์ สัมปทาน สัมผัส สัมพันธ์ สมภาร เป็นต้น
จ. พยัญชนะบาลี ตัวสะกดตัวตามจะอยู่ในวรรคเดียวกันเท่านั้นจะข้ามไปวรรคอื่นไม่ได้
2. สังเกตจากพยัญชนะ “ฬ” จะมีใช้ในภาษาบาลีในไทยเท่านั้น เช่น จุฬา ครุฬ อาสาฬห์ วิฬาร์ โอฬาร์ พาฬ เป็นต้น
3. สังเกตจากตัวตามในภาษาบาลี จะมาเป็นตัวสะกดในภาษาไทยโดยเฉพาะวรรค ฎ และวรรคอื่น ๆ บางตัว จะตัดตัวสะกดออกเหลือแต่ตัวตามเมื่อนำมาใช้ในภาษาไทย เช่น
บาลี ไทย   บาลี ไทย
รัฎฐ รัฐ   อัฎฐิ อัฐิ
ทิฎฐิ ทิฐิ   วัฑฒนะ วัฒนะ
ปุญญ บุญ   วิชชา วิชา
สัตต สัต   เวชช เวช
กิจจ กิจ   เขตต เขต
นิสสิต นิสิต   นิสสัย นิสัย
ยกเว้นคำโบราณที่นำมาใช้แล้วไม่ตัดรูปคำซ้ำออก เช่น ศัพท์ทางศาสนา ได้แก่ วิปัสสนา จิตตวิสุทธิ์ กิจจะลักษณะ เป็นต้น
วิธีสังเกตคำสันสกฤต มีดังนี้
พยัญชนะสันกฤต มี 35 ตัว คือ พยัญชนะบาลี 33 ตัว + 2 ตัว คือ ศ, ษ
ฉะนั้นจึงสังเกตจากตัว ศ, ษ มักจะเป็นภาษาสันสกฤต เช่น กษัตริย์ ศึกษา เกษียร พฤกษ์ ศีรษะ เป็นต้น   ยกเว้นคำไทยบางคำที่ใช้เขียนด้วยพยัญชนะทั้ง 2 ตัวนี้ เช่น ศอก ศึก ศอ เศร้า ศก ดาษ กระดาษ ฝรั่งเศส ฝีดาษ ฯลฯ
ไม่มีหลักการสะกดแน่นอน   ภาษาสันสกฤต ตัวสะกดตัวตามจะอยู่ข้ามวรรคกันได้ ไม่กำหนดตายตัว เช่น อัปสร เกษตร ปรัชญา อักษร เป็นต้น
สังเกตจากสระ   สระในภาษาบาลี มี 8 ตัว คือ อะ อา อิ อี อุ อู เอ โอ
ส่วนสันสกฤต คือ สระภาษาบาลี 8 ตัว + เพิ่มอีก 6 ตัว คือ สระ ฤ ฤา ภ ภา ไอ เอา
ถ้ามีสระเหล่านี้อยู่และสะกดไม่ตรงตามมาตราจะเป็นภาษาสันสกฤต เช่น ตฤณมัย ไอศวรรย์ เสาร์ ไปรษณีย์ ฤาษี คฤหาสน์ เป็นต้น
สังเกตจากพยัญชนะควบกล้ำ ภาษาสันสกฤตมักจะมีคำควบกล้ำข้างท้าย เช่น จักร อัคร บุตร สตรี ศาสตร์ อาทิตย์ จันทร์ เป็นต้น
สังเกตจากคำที่มีคำว่า “เคราะห์” มักจะเป็นภาษาสันสกฤต เช่น เคราะห์ พิเคราะห์ สังเคราะห์ อนุเคราะห์ เป็นต้น
สังเกตจากคำที่มี “ฑ” อยู่ เช่น จุฑา กรีฑา ครุฑ มณเทียร จัณฑาล เป็นต้น
สังเกตจากคำที่มี “รร” อยู่ เช่น สรรค์ ธรรม์ วรรณ บรรพต ภรรยา บรรณารักษ์ มรรยาท กรรม ทรรศนะ สรรพ เป็นต้น
ลักษณะการยืมคำภาษาบาลีและสันสกฤต
ภาษาบาลีและสันสกฤตเป็นภาษาตระกูลเดียวกัน  ลักษณะภาษาและโครงสร้างอย่างเดียวกัน ไทยเรารับภาษาทั้งสองมาใช้ พิจารณาได้ดังนี้
1. ถ้าคำภาษาบาลีและสันสกฤตรูปร่างต่างกัน  เมื่อออกเสียงเป็นภาษาไทยแล้วได้เสียงเสียงตรงกัน เรามักเลือกใช้รูปคำสันสกฤต  เพราะภาษาสันสกฤตเข้ามาสู่ภาษาไทยก่อนภาษาบาลี เราจึงคุ้นกว่า  เช่น
บาลี สันสกฤต ไทย
กมฺม กรฺม กรรม
จกฺก จกฺร จักร
2. ถ้าเสียงต่างกันเล็กน้อยแต่ออกเสียงสะดวกทั้งสองภาษา มักเลือกใช้รูปภาษาสันสกฤตมากกว่าภาษาบาลี เพราะเราคุ้นกว่าและเสียงไพเราะกว่า เช่น
บาลี สันสกฤต ไทย
ครุฬ ครุฑ ครุฑ
โสตฺถิ สฺวสฺติ สวัสดี
3. คำใดรูปสันสกฤตออกเสียงยาก  ภาษาบาลีออกเสียงสะดวกกว่า จะเลือกใช้ภาษาบาลี เช่น
บาลี สันสกฤต ไทย
ขนฺติ กฺษานฺติ ขันติ
ปจฺจย ปฺรตฺย ปัจจัย
4. รูปคำภาษาบาลีสันสกฤตออกเสียงต่างกันเล็กน้อย แต่ออกเสียงสะดวกทั้งคู่  บางทีเรานำมาใช้ทั้งสองรูปในความหมายเดียวกัน เช่น
บาลี สันสกฤต ไทย
กณฺหา กฺฤษฺณา กัณหา, กฤษณา
ขตฺติย กฺษตฺริย ขัตติยะ, กษัตริย์
5. คำภาษาบาลีสันสกฤตที่ออกเสียงสะดวกทั้งคู่  บางทีเรายืมมาใช้ทั้งสองรูป   แต่นำมาใช้ในความหมายที่ต่างกัน เช่น
บาลี สันสกฤต ไทย ความหมาย
กิริยา กฺริยา กิริยา อาการของคน
    กริยา ชนิดของคำ
โทส เทฺวษ โทสะ ความโกรธ
    เทวษ ความเศร้าโศก

ตารางเปรียบเทียบภาษาบาลี – สันสกฤต
ภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต
1. สระมี 8 ตัว  คือ  อะ  อา  อิ  อี  อุ  อู  เอ  โอ 1. สระมี 14 ตัว  เพิ่มจากบาลี 6 ตัว  คือ  ฤ  ฤๅ  ฦ  ฦๅ  ไอ  เอา  (แสดงว่าคำที่มีสระ 6 ตัวนี้จะเป็นบาลีไม่ได้เด็ดขาด)
2. มีพยัญชนะ  33 ตัว  (พยัญชนะวรรค) 2. มีพยัญชนะ 35 ตัว  เพิ่มจากภาษาบาลี 2 ตัว  คือ  ศ ษ  (แสดงว่าคำที่มี  ศ ษ  เป็นภาษาสันสกฤต  *ยกเว้น  ศอก  ศึก  เศิก  โศก  เศร้า  เป็นภาษาไทยแท้)
3. มีตัวสะกดตัวตามแน่นอน  เช่น  กัญญา  จักขุ  ทักขิณะ  ปุจฉา  อัณณพ  คัมภีร์  เป็นต้น 3. มีตัวสะกดและตัวตามไม่แน่นอน  เช่น  กันยา  จักษุ  ทักษิณ  ปฤจฉา  วิทยุ  อัธยาศัย  เป็นต้น
4. นิยมใช้  ฬ  เช่น  กีฬา  จุฬา  ครุฬ  เป็นต้น  (จำว่า กีฬา-บาลี) 4. นิยมใช้  ฑ  เช่น  กรีฑา  จุฑา  ครุฑ  (จำว่า  กรีฑา-สันสกฤต)
5. ไม่นิยมควบกล้ำและอักษรนำ  เช่น  ปฐม  มัจฉา  สามี  มิต  ฐาน  ปทุม  ถาวร  เปม  กิริยา  เป็นต้น 5. นิยมควบกล้ำและอักษรนำ  เช่น ประถม มัตสยา สวามี  มิตร  สถาน  ประทุม  สถาวร  เปรม  กริยา  เป็นต้น
6. นิยมใช้  "ริ"  เช่น  ภริยา  จริยา  อัจฉริยะ  เป็นต้น 6. นิยมใช้  รร  (รอหัน)  เช่น  ภรรยา  จรรยา  อัศจรรย์  เป็นต้น
เนื่องจากแผลงมาจาก  รฺ  (ร เรผะ)  เช่น  วรฺณ = วรรณ
ธรฺม = ธรรม    * ยกเว้น  บรร  เป็นคำเขมร
7.  นิยมใช้ ณ นำหน้าวรรค ฏะ  เช่น  มณฑล  ภัณฑ์
หรือ  ณ  นำหน้า ห  เช่น  กัณหา  ตัณหา 7. นิยม  "เคราะห์"  เช่น  วิเคราะห์  สังเคราะห์  อนุเคราะห์  เป็นต้น
คำสมาส คำสนธิ

    คำสมาส คือ คำที่เกิดจากการนำคำในภาษาบาลีและสันสกฤตมารวมเข้าด้วยกัน เพื่อทำให้เกิดคำใหม่ ที่มีความหมายใหม่ โดยยังมีเค้าของความหมายเดิมอยู่
       หลักสังเกตคำสมาสในภาษาไทย
1. เกิดจากคำมูลตั้งแต่สองคำขึ้นไป
2. เป็นคำที่มีรากศัพท์มาจากภาษาบาลีและสันสกฤตเท่านั้น เช่น กาฬพักตร์ ภูมิศาสตร์ ราชธรรม บุตรทาน อักษรศาสตร์ อรรถคดี ฯลฯ
3. พยางค์สุดท้ายของคำหน้า หากมีสระ อะ หรือมีตัวการันต์อยู่ ให้ยุบตัวนั้นออก (ยกเว้นคำบางคำ เช่น กิจจะลักษณะ เป็นต้น)
4. แปลความจากหลังมาหน้า เช่น ราชบุตร แปลว่า บุตรของพระราชา, เทวบัญชา แปลว่า คำสั่งของเทวดา, ราชการ แปลว่า งานของพระเจ้าแผ่นดิน
5. ส่วนมากออกเสียงพยางค์ท้ายของคำหน้า แม้จะไม่มีรูปสระกำกับอยู่ โดยจะใช้เสียง อะ อิ และ อุ (เช่น เทพบุตร) แต่บางคำก็ไม่ออกเสียง (เช่น สมัยนิยม สมุทรปราการ)
6. คำบาลีสันสกฤตที่มีคำว่า พระ ซึ่งกลายเสียงมาจากบาลีสันสกฤต ก็ถือว่าเป็นคำสมาส (เช่น พระกร พระจันทร์)
7. ส่วนใหญ่จะลงท้ายว่า ศาสตร์ กรรม ภาพ ภัย ศึกษา ศิลป์ วิทยา (เช่น ศึกษาศาสตร์ ทุกขภาพ จิตวิทยา)
8. อ่านออกเสียงระหว่างคำ เช่น
ประวัติศาสตร์  อ่านว่า  ประ – หวัด – ติ – ศาสตร์
นิจศีล  อ่านว่า  นิจ – จะ – สีน
ไทยธรรม  อ่านว่า  ไทย – ยะ – ทำ
อุทกศาสตร์  อ่านว่า  อุ – ทก – กะ – สาด
อรรถรส  อ่านว่า  อัด – ถะ – รด
จุลสาร  อ่านว่า  จุน – ละ – สาน
9. คำที่มีคำเหล่านี้อยู่ด้วย มักจะเป็นคำสมาส คือ การ กร กรรม คดี ธรรม บดี ภัย ภัณฑ์ ภาพ ลักษณ์ วิทยา ศาสตร์ ข้อสังเกต
1. ไม่ใช่คำที่มาจากภาษาบาลีสันสกฤตทั้งหมด เช่น
เทพเจ้า  (เจ้า เป็นคำไทย)
พระโทรน  (ไม้ เป็นคำไทย)
พระโทรน  (โทรน เป็นคำอังกฤษ)
บายศรี  (บาย เป็นคำเขมร)
2.คำที่ไม่สามารถแปลความจากหลังมาหน้าได้ไม่ใช่คำสมาส เช่น
ประวัติวรรณคดี  แปลว่า  ประวัติของวรรณคดี
นายกสมาคม  แปลว่า  นายกของสมาคม
วิพากษ์วิจารณ์  แปลว่า  การวิพากษ์และการวิจารณ์
3. คำสมาสบางคำไม่ออกเสียงสระตรงพยางค์ของคำหน้า เช่น
ปรากฏ  อ่านว่า  ปรา – กด – กาน
สุภาพบุรุษ  อ่านว่า  สุ – พาบ – บุ – หรุด
สุพรรณบุรี  อ่านว่า  สุ – พรรณ – บุ – รี
สามัญศึกษา  อ่านว่า  สา – มัน – สึก – สา
 ตัวอย่างคำสมาส
 ธุรกิจ  กิจกรรม  กรรมกร  ขัณฑสีมา  คหกรรม
เอกภพ  กาฬทวีป  สุนทรพจน์  จีรกาล  บุปผชาติ
ประถมศึกษา  ราชทัณฑ์  มหาราช  ฉันทลักษณ์  พุทธธรรม
วรรณคดี  อิทธิพล  มาฆบูชา  มัจจุราช  วิทยฐานะ
วรรณกรรม  สัมมาอาชีพ  หัตถศึกษา  ยุทธวิธี  วาตภัย
อุตสาหกรรม  สังฆราช  รัตติกาล  วสันตฤดู  สุขภาพ
อธิการบดี  ดาราศาสตร์  พุพภิกขภัย  สุคนธรส  วิสาขบูชา
บุตรทาน  สมณพราหมณ์  สังฆเภท  อินทรธนู  ฤทธิเดช
แพทย์ศาสตร์  ปัญญาชน  วัตถุธรรม  มหานิกาย  มนุษยสัมพันธ์
วิทยาธร  วัฏสงสาร  สารัตถศึกษา  พัสดุภัณฑ์  เวชกรรม
เวทมนตร์  มรรคนายก  อัคคีภัย  อุดมคติ  เอกชน
ทวิบาท  ไตรทวาร  ศิลปกรรม  ภูมิศาสตร์  รัฐศาสตร์
กาฬพักตร์  ราชโอรส  ราชอุบาย  บุตรทารก  ทาสกรรมกร
พระหัตถ์  พระชงฆ์  พระพุทธ  พระปฤษฏางค์  วิทยาศาสตร์
กายภาพ  กายกรรม  อุทกภัย  วรพงศ์  เกษตรกรรม
 
คำสนธิ คือการสมาสโดยการเชื่อมคำเข้าระหว่างพยางค์หลังของคำหน้ากับพยางค์หน้าของคำหลัง เป็นการย่ออักขระให้น้อยลงเวลาอ่านจะเกิดเสียงกลมกลืนเป็นคำเดียวกัน
       หลักสังเกตคำสนธิในภาษาไทย
การสนธิแบ่งเป็น 3 ประเภท คือ 1. สระสนธิ 2. พยัญชนะสนธิ 3. นฤคหิตสนธิ
       1. สระสนธิ คือการนำคำที่ลงท้ายด้วยสระไปสนธิกับคำที่ขึ้นค้นด้วยสระ ซึ่งเมื่อสนธิแล้วจะมีการเปลี่ยนแปลงรูปสระตามกฏเกณฑ์
       - ตัดสระพยางค์ท้ายคำหน้า แล้วใช้สระพยางค์หน้าคำหลัง เช่น
ราช + อานุภาพ  =  ราชานุภาพ
สาธารณ + อุปโภค  =  สาธารณูปโภค
นิล + อุบล  =  นิลุบล
       - ตัดสระพยางค์ท้านคำหน้า และใช้สระพยางค์ต้นของคำหลัง โดยเปลี่ยนสระพยางค์ต้นของคำหลัง
อะ  เป็น  อา
อิ  เป็น  เอ
อุ  เป็น  อู
อุ, อู  เป็น  โอ
      เช่น
พงศ + อวตาร  =  พงศาวตาร
ปรม + อินทร์  =  ปรเมนทร์
มหา + อิสี  =  มเหสี
     - เปลี่ยนสระพยางค์ท้ายของคำหน้าเป็นพยัญชนะ คือ
อิ อี  เป็น  ย
อุ อู  เป็น  ว
      ใช้สระพยางค์ต้นของคำหลังซึ่งอาจเปลี่ยนรูปหรือไม่เปลี่ยนรูปก็ได้ ในกรณีที่สระพยางค์ต้นของคำหลังไม่ใช่ อิ อี อุ อู อย่างสระตรงพยางค์ท้ายของคำหน้า เช่น
กิตติ + อากร  =  กิตยากร
สามัคคี + อาจารย์  =  สามัคยาจารย์
ธนู + อาคม  =  ธันวาคม
      คำสนธิบางคำไม่เปลี่ยนสระ อิ อี เป็น ย แต่ตัดทิ้ง ทั้ง สระพยางค์หน้าคำหลังจะไม่มี อิ อี ด้วยกัน เช่น
ศักคิ + อานุภาพ  =  ศักดานุภาพ
ราชินี + อุปถัมภ์  =  ราชินูปถัมภ์
หัสดี + อาภรณ์  =  หัสดาภรณ์
      2. พยัญชนะสนธิ คือการเชื่อมคำด้วยพยัญชนะเป็นการเชื่อมเสียง พยัญชนะในพยางค์ท้ายของคำแรกกับเสียงพยัญชนะหรือสระในพยางค์แรก ของคำหลัง เช่น
      -สนธิเข้าด้วยวิธี โลโป คือลบพยางค์สุดท้ายของคำหน้าทิ้ง เช่น
นิรส + ภัย  =  นิรภัย
ทุรส + พล  =  ทุรพล
อายุรส + แพทย์  =  อายุรแพทย์
      -สนธิเข้าด้วยวิธี อาเสโท คือแปลงพยัญชนะท้ายของคำหน้า เป็นสระ โอ แล้วสนธิตามปกติ เช่น
มนส + ภาพ  =  มโนภาพ
ยสส + ธร  =  ยโสธร
รหส + ฐาน  =  รโหฐาน


 3. นฤคหิตสนธิ คือ การเชื่อมคำด้วยนฤคหิต เป็นการเชื่อมเมื่อพยางค์หลังของคำแรกเป็นนฤคหิตกับเสียงสระในพยางค์แรกของคำหลัง มี 3 วิธี คือ
      1. นฤคหิตสนธิกับสระ ให้เปลี่ยนนฤคหิตเป็น ม แล้วสนธิกัน
           เช่น สํ + อาคม = สม + อาคม = สมาคม
                  สํ + อุทัย = สม + อุทัย = สมุทัย
      2. นฤคหิตสนธิกับพยัญชนะของวรรค ให้เปลี่ยนนฤคหิตเป็นพยัญชนะตัวสุดท้ายของพยัญชนะในแต่ละวรรค ได้แก่
                  วรรคกะ เป็น ง
                  วรรคจะ เป็น ญ
                  วรรคตะ เป็น น
                  วรรคฏะ เป็น ณ
                  วรรคปะ เป็น ม
           เช่น สํ + จร = สญ + จร = สัญจร
                 สํ + นิบาต = สน + นิบาต = สันนิบาต
      3. วรรคกะ เป็นสนธิกับพยัญชนะเศษวรรค ให้เปลี่ยนนฤคหิต เป็น ง
          เช่น สํ + สาร = สงสาร
                  สํ + หรณ์ = สังหรณ์
 ตัวอย่างคำสนธิ
 
นครินทร์  ราโชวาท  ราชานุสรณ์  คมนาคม  ผลานิสงส์
ศิษยานุศิษย์  ราชินยานุสรณ์  สมาคม  จุลินทรีย์  ธนคาร
มหิทธิ  นภาลัย  ธนาณัติ  สินธวานนท์  หิมาลัย
ราชานุสรณ์  จุฬาลงกรณ์  มโนภาพ  รโหฐาน  สงสาร
หัสดาภรณ์  จักขวาพาธ  หัตถาจารย์  วัลยาภรณ์  นโยบาย
อินทรธิบดี  มหัศจรรย์  มหรรณพ  มหานิสงส์  ดรุโณทยาน
ภยาคติ  บรรณารักษ์  เทพารักษ์  ทันตานามัย  วโรดม
สินธวาณัติ  ศิลปาชีพ  ปรเมนทร์  ทุตานุทูต  นเรศวร
กุศโลบาย  ราโชบาย  ชลาลัย  สุโขทัย  สังคม
สมาทาน  สุริโยทัย  ขีปนาวุธ  บดินทร์  พนาลัย
อนามัย  สังหรณ์  กินนรี  สโมสร  กาญจนามัย
พลานามัย  นิรภัย  คณาจารย์  มีนาคม  มกราคม
กุมภาพันธ์  เมษายน  พฤษภาคม  มิถุนายน  กรกฎาคม
สิงหาคม  กันยายน  ตุลาคม  พฤศจิกายน  ธันวาคม
ทุรชาติ  ยโสธร  อมรินทร์  หัสดินทร์  มนินทร์
มหินทร์  อายุรเวช  อุปรากร  ทรัพยากร  วราภรณ์
จุฬาภรณ์  ราชูปโภค  ราชินทร์เคหาภิบาล  สุรางค์  คงคาลัย
จินตนาการ  วิทยาการ  หัสดินทร์  มัคยาจารย์  หัตถาจารย์
 

แบบทดสอบคำสมาส สนธิ
1. ข้อใดเป็นคำสมาส
 1. จันทร์เพ็ญ 2. กรมหลวง
 3. วิทยาธร 4. พระขนง 
2. ข้อใดเป็นสระสนธิ
 1. ชลนัยน์ 2. ราโชวาท
 3. สงสาร 4. ยโสธร 
3. ข้อใดเป็นพยัญชนะสนธิ 
 1. มหรรณพ 2. วัลยาภรณ์
 3. กินนร 4. รโหฐาน
4. ข้อใดเป็นคำสมาสที่เกิดจากบาลี และ สันสกฤต ตามลำดับ 
 1. ราชทัณฑ์ 2. สัมมาอาชีพ
 3. พลเมือง 4. วัฒนธรรม 
5. ข้อใดเป็นคำสมาสและคำสนธิในรูปเดียวกัน 
 1. พระบรมวงศานุวงศ์ 2. พระบรมราชโองการ
 3. พระบรมมหาราชวัง 4. พระราชอุบาย
6. ข้อใดเป็นนฤคหิตสนธิ 
 1. อนุศาสนาจารย์ 2. บุตรทาน
 3. สโมสร 4. มโนภาพ 
7. ข้อใดเป็นคำประเภทเดียวกับ ภูมิศาสตร์ 
 1. ประวัติวรรณคดี 2. นายกสมาคม
 3. เคมีภัณฑ์ 4. อุดมศึกษา 8. ข้อใดเป็นคำสนธิ 
 1. ราโชบาย 2. ราชวัลลภ
 3. ราชวงศ์ 4. ราชการ 
9. ข้อใดผิดหลักนิคหิตสนธิ 
 1. สํ + อาคม = สังคม 2. สํ + กร = สังกร
 3. สํ + ฐาน = สัณฐาน 4. สํ + สรรค์ = สังสรรค์ 
10. หัตถาจารย์ แยกสนธิได้อย่างไร 
 1. หัตถ + อาจารย์ 2. หัตถา + อาจารย์
 3. หัตถี + อาจารย์ 4. หัตย + อาจารย์ 
11. ข้อใดมีการเปลี่ยนแปลงรูปสระก่อนการเข้าสนธิ 
 1. ราชินยานุสรณ์ 2. วัลยาภรณ์
 3. สามัคยาจารย์ 4. ถูกทุกข้อ 

12. ข้อใดแยกสนธิได้ถูกต้อง 
 1. หัสดี + อาภรณ์ = หัสดาภรณ์
 2. มาลี + อาภรณ์ = มาลียาภรณ์
 3. จักขุ + อาพาธ = จักขุอาพาธ
 4. นิล + อุบล = นิโลตบล 
13. "วิเทโศบาย" แยกสนธิได้อย่างไร
 1. วิเทศ + อุบาย  2. วิเทศ + อบาย
 3. วิเทโศ + บาย  4. วิเทศ + โอบาย 
14. ข้อใดอธิบายลักษณะของคำสนธิได้ถูกต้อง 
 1. การนำคำมูลมาเชื่อมกัน
 2. การนำคำภาษาต่างประเทศมาเชื่อมกัน
 3. การนำคำไทยมาเชื่อมคำบาลีและสันสกฤต
 4. การนำคำบาลีและสันสกฤตมาเชื่อมกัน 
15. สระในข้อใด ไม่ใช้ ในการสนธิ 
 1. อะ อา  2. อิ อี
 3. อึ อื  4. อุ อู 
16. ข้อใดไม่เป็นข้อแตกต่างระหว่างคำประสมและคำสมาส
 1. ความหมาย  2. ที่มาขอคำ
 3. จำนวนคำที่มาประสมกัน
 4. การแปลความหมายของคำ 
17. ข้อใดเป็นลักษณะของคำสมาส
 1. คำไทยประสมกันตั้งแต่ 2 คำขึ้นไป
 2. คำประสมที่มาจากภาษาบาลีและคำไทย
 3. คำที่ประสมคำบาลีกับคำอื่น
 4. คำที่ประสมคำบาลีหรือสันสกฤต 
18. ข้อใด ไม่ใช่ คำสมาสทุกคำ 
 1. พระเขนย พระอู่ พระพุทธเจ้า
 2. พระหัตถ์ พระบาท พระชงฆ์
 3. ครุศาสตร์ วิทยาศาสตร์ จริยศาสตร์
 4. อุทกภัย วาตภัย ทุพภกขภัย 
 19. ข้อใด ไม่ได้ อ่านอย่างคำสมาส 
 1. สวัสดิการ 2. สารคดี
 3. บรรษัท  4. ทศนิยม 
20. คำสมาสข้อใดแปลความจากหน้าไปหลังหรือหลังไปหน้าก็ได้
 1. ทาสกรรม ศีลธรรม สมณพราหมณ์
 2. วิสาขบูชา ทันตกรรม พระพุทธ
 3. สุภาพบุรุษ สุภาพชน สุขภาพจิต
 4. ธุรการ ธุรกิจ กิจกรรม
21. ข้อใดไม่ใช่คำประสมทุกคำ
    1. น้ำใจ นักเขียน
    2. ดาวเทียม นำอัดลม
    3. ตู้อบ โรงเรียน
    4. หางเสือ มะละกอ
22. ข้อใดมีคำประสมที่ประกอบด้วยคำนามและคำกริยา
    1.คนสวย ใจดำ
    2. นำตก นมสด
    3. เข็มกลัด ข้าวต้ม
    4. พัดลม กันชน
23. ข้อใดเป็นคำซ้อนเพื่อความหมายทุกคำ
    1.เล็กน้อย โวยวาย
    2. โลเล กล้าหาญ
    3. กักขัง อ้อยอิ่ง
    4.หน่วงเหนี่ยว บุกรุก
24. ข้อใดมีคำประสม ๑ คำ คำซ้อน ๑ คำ
    1. มาลินี เรียบร้อย
    2. ผู้ปกครอง เป็นห่วง
    3. แม่ทัพ เข้มแข็ง
    4. ยิ้มแย้ม แจ่มใส
25. ข้อใดเป็นคำซ้ำที่แสดงจำนวนมากขึ้น
    1.ของกล้วยๆใครๆก็ทำได้
    2. เขาต้องดูแลน้องๆของเขา
    3. ทำอะไรต้องตั้งใจทำจริงๆ
    4. ปั๊มน้ำมันอยู่ใกล้ๆกับอู่ซ่อมรถ
26. ข้อใดมีทั้งคำมูล คำประสม และคำซ้อน
    1.กะหล่ำ เตารีด รีดไถ
    2. นางแบบ ตู้เย็น นักร้อง
    3. กระถาง กะละมัง กาละแม
    4. ดูแล ว่ากล่าว ตักเตือน
27. ข้อใดเป็นคำซ้อนเพื่อความหมายทุกคำ
      1.   หยาบคาย ขัดถู เดือดร้อน
      2.   ลุกลน ซุกซน หนทาง
      3.  เยาะเย้ย ถากถาง ถดถอย
       4.  ยอกย้อน เร่อร่า ระราน
28.  ข้อใดเป็นคำซ้อนเพื่อเสียงทุกคำ
      1.  หนุงหนิง เหนอะหนะ ซ่อนเร้น
       2. กะรุ่งกะริ่ง กระวีกระวาด หลุกหลิก
       3. เกะกะ ทุกที อบรม
       4. ทิ้งขว้าง ดูแล เลี้ยงดู
29.  ข้อใดเป็นคำซ้อนที่มีความหมายตรงกันข้าม
          1.  ดอกดวง
          2.  เท็จจริง
          3.  ค่ำคืน
          4.  ซอกซอย
30.  ข้อใดเป็นคำซ้อนเพื่อเสียง
         1. กระโดดโลดเต้น
         2. กระชุ่มกระชวย
         3. วัดวาอาราม
        4.  บ้านนอกคอกนา

 

 

 

มหาวิทยาลัยศรีปทุม ผู้ใหญ่ใจดี
 

 ช่วยด้วยครับ
นักเรียนที่สร้างบล็อก กรุณาอย่า
คัดลอกข้อมูลจากเว็บอื่นทั้งหมด
ควรนำมาจากหลายๆ เว็บ แล้ววิเคราะห์ สังเคราะห์ และเขียนขึ้นใหม่
หากคัดลอกทั้งหมด จะถูกดำเนินคดี
ตามกฎหมายจากเจ้าของลิขสิทธิ์
มีโทษทั้งจำคุกและปรับในอัตราสูง

ช่วยกันนะครับ 
ไทยกู๊ดวิวจะได้อยู่นานๆ 
ไม่ถูกปิดเสียก่อน

ขอขอบคุณในความร่วมมือครับ

อ่านรายละเอียด

ด่วน...... ขณะนี้
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 
มีผลบังคับใช้แล้ว 
ขอให้นักเรียนและคุณครูที่ใช้งาน
เว็บ thaigoodview ในการส่งการบ้าน
ระมัดระวังการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย
อ่านรายละเอียดที่นี่ครับ

 

สมาชิกที่ออนไลน์

ขณะนี้มี สมาชิก 0 คน และ ผู้เยี่ยมชม 482 คน กำลังออนไลน์