บริการโทรเลข จากอดีตวันนั้น จนถึงวันนี้
มองย้อนหลังบริการโทรเลข ศึกษา อดีตวันนั้น จนถึงวันนี้ [29 ก.พ. 51 - 06:28]
“กลับบ้านด่วนแม่ป่วย”, “พ่อตายกลับบ้านด้วย”, “ส่งเงินให้ด่วน” หรือ แม้กระทั่ง “แดงคลอดแล้วเป็นชาย” คือ ข้อความสั้น กระชับและได้ใจความ ที่คนไทยวัยกลางคนขึ้นไปอาจจะคุ้นเคยอยู่บ้างทั้งกรณีที่เป็นผู้รับ หรือ ผู้ส่ง ข้อความเร่งด่วนและมีความหมายสำคัญต่อชีวิตให้กับผู้ที่อยู่กันคนละสถานที่ผ่านบริการโทรเลข ตั้งแต่เมื่อครั้งที่บริการด้านการสื่อสารและโทรคมนาคมยังไม่เจริญก้าวหน้าและทั่วถึงเช่นในทุกวันนี้ แต่ด้วยข้อจำกัดต่างๆ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2551 เป็นต้นไป บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ กสท ได้กำหนดจะยกเลิกบริการโทรเลขหลังจากได้ทำหนังสือแจ้งไปยังคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช. และได้รับคำตอบกลับมาตั้งแต่เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 2550 โดยขณะนี้ กสท อยู่ระหว่างดำเนินการตามกระบวนการยกเลิกบริการต่างๆ เช่น แจ้งให้ประชาชนรับทราบ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของ กสท ระบุว่า โทรเลข หรือ เทเลกราฟ เซอร์วิส คือ ระบบโทรคมนาคมที่ใช้อุปกรณ์ทางไฟฟ้าทำหน้าที่ส่งข้อความจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง เริ่มต้นอาศัยสายตัวนำที่โยงติดต่อถึงกันและอาศัยอำนาจแม่เหล็กไฟฟ้าเป็นสำคัญ แต่ระยะหลังมีการใช้วิธีการส่งไร้สาย หรือ ที่รู้จักกันในชื่อวิทยุโทรเลข โดยผู้ประสงค์ที่จะฝากส่งโทรเลขจะต้องมาใช้บริการ ณ ที่ทำการไปรษณีย์โทรเลขเท่านั้น เว้นแต่ในกรณีที่ผู้ฝากส่งจะขอส่งโทรเลขทางเทเล็กซ์ หรือ ทางโทรศัพท์ สำหรับในประเทศไทยนั้น โทรเลขกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2418 เมื่อรัฐบาลไทยมอบให้กรมกลาโหมสร้างทางสายโทรเลขสายแรกจากกรุงเทพฯ ไปปากน้ำ ต่อมา พ.ศ.2426 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรมโทรเลขขึ้นรับช่วงงานโทรเลขต่อจากกรมกลาโหมจนบริการโทรเลขเจริญก้าวหน้าขึ้นเป็นลำดับ และในวันที่ 26 ก.ค. 2426 ได้มีประกาศให้สาธารณชนทั่วไปสามารถใช้โทรเลขได้ หลังจากนั้น กิจการโทรเลขในประเทศไทยพัฒนาขึ้นเป็นลำดับและมีการเชื่อมต่อสายโทรเลขเข้ากับต่างประเทศ ก่อนเริ่มเข้าสู่ยุควิทยุโทรเลขครั้งแรกในสมัยสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต โดยได้มีเครื่องรับส่งวิทยุโทรเลขแบบมาร์โคนี ใช้เป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2450 แต่สมัยนั้น ยังไม่มีคำภาษาไทยที่ใช้แปลคำว่า RADIO หรือ ราดิโอ ต่อมาภายหลังพระบาท สมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงบัญญัติให้ใช้คำว่า วิทยุแทนคำว่า ราดิโอ จากยุคดังกล่าว กิจการด้านวิทยุโทรเลขรู้จักแพร่หลายมากขึ้นและรัฐบาลได้ประกาศใช้พระราชบัญญัติ หรือ พ.ร.บ. วิทยุโทรเลข พ.ศ. 2457 โดยกำหนดให้กรมไปรษณีย์โทรเลขมีอำนาจหน้าที่ตั้งเครื่องและใช้วิทยุโทรเลข วิทยุโทรศัพท์ในประเทศไทย รวมทั้งอนุญาตให้ข้าราชการทหารเรือทำความตกลงกับกรมไปรษณีย์โทรเลขให้ประชาชนใช้วิทยุโทรเลขได้ จนในปี พ.ศ. 2471 กองช่างวิทยุ กรมไปรษณีย์ฯ ก็ได้เปิดการสื่อสารทางวิทยุโทรเลขโดยตรงกับทวีปยุโรปเป็นครั้งแรก ทั้งนี้ เมื่อครั้งเปิดการสื่อสารทางวิทยุโทรเลขกับต่างประเทศครั้งแรกโดยไม่ต้องผ่านประเทศอื่นๆ ดังกล่าว พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี ทรงกระทำพิธีเปิด ก่อนที่ต่อมาภายหลังสิ้น สุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ระหว่างปี พ.ศ. 2490-2496 กรมไปรษณีย์ฯ เปิดการติดต่อทางวิทยุโทรเลขกับต่างประเทศเพิ่มขึ้นอีกหลายแห่ง ได้แก่ เวียดนาม ไต้หวัน อินเดีย ญี่ปุ่นและเดนมาร์ก ถัดมาในปี พ.ศ. 2496 นายสมาน บุณยรัตพันธุ์ นายช่างโทรเลขของไทยได้คิดค้นเครื่องโทรพิมพ์ภาษาไทยได้สำเร็จ โดยคิดระบบกลไก หรือ SPACING CONTROL MECHANISM ต่อมาได้ประดิษฐ์เพิ่มเติมให้เครื่องโทรพิมพ์ทำงานได้ทั้งสองภาษาในเครื่องเดียวกัน คือ มีทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ โดยใช้ชื่อว่า เครื่องโทรพิมพ์ไทยแบบ S.P. โดยกรมไปรษณีย์ฯ ได้รับรองเครื่องพิมพ์ไทยแบบ S.P. ในปี พ.ศ. 2498 ต่อมาวันที่ 1 ก.พ. 2500 กรมไปรษณีย์ฯ เริ่มสั่งสร้างเครื่องโทรพิมพ์ไทยจากประเทศญี่ปุ่นเข้ามาใช้งานรับส่งโทรเลขเป็นรุ่นแรกระหว่างกรุงเทพฯ -นครสวรรค์ กรุงเทพฯ-อุตรดิตถ์-เชียงใหม่ ที่ต่อมาได้ขยายการับส่งโทรเลขโดยใช้เครื่องโทรพิมพ์ออกไปทั่วประเทศ และจนกระทั่งในปี พ.ศ. 2503 กรมไปรษณีย์ฯ จึงได้ปรับปรุงบริการโทรเลขให้ทันสมัยโดยจัดซื้ออุปกรณ์ใหม่ เช่น ดังนี้ เครื่องส่งวิทยุความถี่สูง เครื่องรับวิทยุความถี่สูงและเครื่องโทรพิมพ์ที่ใช้ในงานโทรเลขแบบต่างๆ งานนี้ อุปกรณ์โทรเลขต่างๆ ได้ดำเนินการติดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2504 และเปิดใช้งานรับส่งโทรเลขติดต่อกับต่างประเทศด้วยวงจร HF 1 ARQ เป็นต้นมา โดยเริ่มทำการติดต่อกับประเทศญี่ปุ่นเป็นวงจรแรกและได้เปิดเพิ่มขึ้นในเวลาต่อมา อย่างไรก็ตาม ในส่วนของกิจการวิทยุโทรเลขภายในประเทศกรมไปรษณีย์ฯ ได้ดำเนินการจัดตั้งสถานีวิทยุคมนาคมขึ้นในจังหวัดและอำเภอต่างๆ ที่ไม่สามารถขึงสายโทรเลขไปถึงได้นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2496 จำนวนทั้งสิ้น 50 สถานี กล่าวถึงการให้บริการโทรเลขในยุคเริ่มแรกนั้น กรมไปรษณีย์ฯ จะเป็นการจัดให้บริการรับ-ส่งข้อความ โดยให้สาธารณชนนำข้อความมาฝากส่ง ณ ที่ทำการไปรษณีย์ฯ และชำระค่าใช้บริการเป็นจำนวนคำตามอัตราที่ทางราชการกำหนด โดยที่ทำการจะรับฝากและจัดส่งโทรเลขด้วยเครื่องโทรเลขแบบใดแบบหนึ่ง หรือ เครื่องโทรพิมพ์ ไปยังเครื่องรับของที่ทำการที่อยู่ในท้องที่ที่ผู้รับอาศัยอยู่ หลังจากนั้น เมื่อที่ทำการปลายทางได้รับโทรเลขแล้วจะให้เจ้าหน้าที่นำโทรเลขไปจ่ายให้ผู้รับ และแล้วในปี พ.ศ.2520 กรมไปรษณีย์ฯ ก็ได้โอนส่วนปฏิบัติการให้บริการโทรคมนาคมของประเทศ ที่รวมถึงบริการโทรเลข ให้ไปอยู่ในความรับผิดชอบของการสื่อสารแห่งประเทศไทย ที่เปลี่ยนชื่อมาเป็น กสท ในปัจจุบัน หลังจากนั้น เป็นผลให้การให้บริการโทรเลขขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวางและรวดเร็วด้วยการนำระบบสื่อสารทางดาวเทียม ระบบเคเบิลใต้น้ำและอุปกรณ์โทรคมนาคมที่ทันสมัยมาใช้งานเพิ่มเติมจนถึงทุกวันนี้ เป็นผลให้การรับส่งโทรเลขรวดเร็วยิ่งขึ้น ที่กล่าวมา คือ ความเป็นมาของบริการโทรเลขในประเทศไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ดังที่ได้เกริ่นนำไปแล้วว่า ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2551 เป็นต้นไป กสท กำหนดจะยกเลิกบริการโทรเลขหลังจากรวมระยะเวลาการเปิดให้บริการมามากกว่า 100 ปี ดังนั้น ในครั้งต่อไปเรามาดูกันว่า เหตุใด กสท จึงจำเป็นต้องยกเลิกบริการโทรเลข และ กทช. ในฐานะผู้กำกับดูแลการให้บริการโทรคมนาคมในประเทศจะพูดถึงเรื่องนี้ อย่างไร... http://www.thairath.co.th/news.php?section=technology03a&content=80685
|