คำและการสร้างคำ

 

1. คำ


1.1 คำ คือ พยางค์ที่มีความหมาย


1.2 คำแต่ดั้งเดิมไม่ได้เกิดการเอาคำเก่ามารวมกันเรียกว่า คำมูล


1.3 เมื่อเอาคำมูลมาสร้างได้เกิดคำใหม่ จะเกิดคำประสม คำซ้ำ คำซ้อน และคำสมาส


2. คำมูล (คำเดี่ยว)


2.1 คำมูล คือ คำแต่ดั้งเดิม ไม่ได้เกิดจากการรวมคำใดๆแต่อย่างไร


2.2 ตัวอย่าง เดิน กิน นั่ง บอล หมา กุ้ง กะทิ ตลก กระเป๋า หนังสือ กระถาง วารี นารี กีฬา มานะ ตุ๊กแก ชีวิต กระจก กะโหลก มะละกอ


2.3 วิธีการดูคำมูล


1.) คำพยางค์เดียวทุกคำเป็นคำมูล


2.) ถ้าเป็นคำมากกว่า 2 พยางค์ ให้แยกทีละพยางค์ คือ


          - ความหมายของคำใหม่ ไม่เกี่ยวข้องกับความหมายพยางค์ จะเป็นคำมูล


          - ความหมายของคำใหม่ เกี่ยวข้องกับความหมายพยางค์เดิม จะไม่ใช่คำมูล


3. คำซ้ำ


3.1 คำซ้ำเกิดจากการเอาคำที่มีรูปและความหมายเหมือนกันมาซ้ำกัน


3.2 ปกติเราสามารถใช้เครื่องหมายยมกแทนคำมูลคำที่สอง


ยกเว้น: กรณีที่เป็นร้อยกรอง เช่น - เขากินข้าวเป็นชามชามเลย = เขากินข้าวเป็นชามๆเลย
                                         - เรื่อยเรื่อยมาเรียงเรียง นกบินเฉียงไปทั้งหมู่


3.3 ความหมายที่เกิดจากการซ้ำคำ


          - พหูพจน์                       ลูกๆไม่ยอมกินข้าวกันเลย
          - แยกจำนวน                  จ่ายเป็นงวดๆจะดีกว่า
          - ทำกริยาซ้ำๆต่อเนื่อง       มองๆตั้งนานถึงรู้ว่าเป็นเธอ
          - ทำกริยาโดยไม่ตั้งใจ       ไปเดินๆเป็นพิธีก็แล้วกัน
          - บอกลักษณะ                 เธอสวมเสื้อสีฟ้าๆ
          - ไม่เจาะจง                    เขานั่งอยู่ข้างๆเธอ
          - เน้นความหมาย              เดินเท่าไรๆก็ไม่ถึงซักที
          - เปลี่ยนความหมายจากเดิม อยู่ๆ ไปๆ ไปๆมาๆ เดี๋ยวๆ ลวกๆ พื้นๆ บ้านๆ


4. คำซ้อน (คำคู่)


4.1 คำซ้อน เกิดจากการเอาคำที่มีความหมายเหมือนกัน คล้ายกัน หรือตรงกันข้ามมารวมกัน


4.2 ประเภทของคำซ้อน


          - คำซ้อนที่ความหมายเหมือนกันหรือคล้ายกัน เช่น ถ้วยชาม ข้าวปลาอาหาร ครูบาอาจารย์ ชื่อแซ่ บ้านเรือน ผู้คน จิตใจ มืดค่ำ สร้างสรรค์ เรือแพ มองเห็น ดูแลเอาใจใส่ ผลิบาน เจ็บป่วย ลดหลั่น เพิกถอน กระทบกระทั่ง เชิดชู หักโหม เฮฮา ทบทวน เฟื่องฟู


          - คำซ้อนที่ความหมายตรงกันข้ามกัน เช่น ทอดถอน ชั่วดี ดึงดัน ถี่ห่าง ดีเลว ล้มลุก ซื้อขาย สั้นยาว


4.3 จุดที่น่าสนใจ


1.) บางคำเป็นคำซ้อนที่ดูง่ายมาก เช่น จิตใจ คุณค่า ดีงาม ปัดกวาด มองเห็น มืดค่ำ


2.) แต่บางคำก็ดูยาก โดยเฉพาะบางคำที่มีคำซ้อนอีกคำเป็นคำเก่าแก่หรือคำภาษาถิ่น เช่น ตัดสิน เด็ดขาด ตักเตือน เชื้อเชิญ ชดใช้ คับแค้น ยุยง เสื่อสาด ด่าทอ โพยภัย แข็งแกร่ง ไหว้สา ซ่องสุม ค้างคา ถือสา มดหมอ พัดวี ทองคำ อ้วนพี รู้จัก


3.) คำต่อไปนี้ไม่ใช่คำซ้อน เช่น กินอิ่ม สื่อสาร ห่วงใย ล้มละลาย


4.) วิธีดูโครงสร้างของคำซ้อน อาจจะมองว่าคำซ้อนนั้นเกิดจากคำความหมายเหมือนหรือตรงข้ามมารวมกัน หรือ เกิดจากคำที่มีความหมายเหมือนกันกี่คำมารวมกัน เช่น ข้าวปลาอาหาร มีโครงสร้างคำซ้อนเหมือน เหล้ายาปลาปิ้ง ครูบาอาจารย์ ภูตผีปีศาจ


4.4 ความหมายที่เกิดจากการซ้อนคำ


1.) อยู่ที่คำเพียงบางคำในกลุ่มคำทั้งหมด เช่น ใจคอ ปากคอ หน้าตา รูปร่าง โง่เขลา เหาะเหิน ดื้อดึง หัวหู ญาติโยม ชั่วดี เนื้อตัว หูตา หยิบยื่น หลับนอน ต้อนรับขับสู้ น้ำหูน้ำตา อดอยากปากแห้ง หักอกหักใจ ขวางหูขวางตา อดตาหลับขับตานอน ผูกพยาบาทคาดพยาเวร


2.) อุปมา เช่น หนักแน่น ดูดดื่ม อบรม มัวหมอง เด็ดขาด เดือดร้อน


5. คำซ้อนเพื่อเสียง


5.1 คำซ้อนเพื่อเสียงเกิดจากการเอาพยางค์ที่มีเสียงพยัญชนะต้นเหมือนกันมารวมกัน


5.2 พยางค์ที่นำมาซ้อนเพื่อเสียงอย่างน้อย 1 พยางค์จะไม่มีความหมาย  (ไม่ให้ความหมาย)


5.3 ตัวอย่างคำซ้อนเพื่อเสียง เงอะงะ งอแง งุ่มง่าม โฉ่งฉ่าง เฟอะฟะ ฟูมฟาย เอะอะ โวยวาย เตาะแตะ ตุ้งติ้ง หนุงหนิง


6. คำประสม


6.1 คำประสมเกิดจากการเอาคำ 2 คำที่ความหมายต่างกันมารวมกันให้เกิดความหมายใหม่ โดยมีเค้าความหมายเดิม


6.2 วิธีดูคำประสม


1.) คำประสมต้องมีความหมายเกี่ยวกับคำ 2 คำที่เอามารวมกันด้วย เช่น

          ข้าวผัด      = ต้องเกี่ยวกับ ข้าว และ ผัด
          มะม่วงกวน = ต้องเกี่ยวกับ มะม่วง และ กวน
          เสื้อยืด      = ต้องเกี่ยวกับ เสื้อ และ ยืด


2.) ต้องเกิดความหมายใหม่ คือเป็นชื่อเรียก หรือกริยาอาการใหม่ หรือลักษณะใหม่


          - ตู้เย็น   (เครื่องใช้ชนิดหนึ่ง) ก๋วยเตี๋ยวหลอด  (อาหารชนิดหนึ่ง)
          - ท่าเรือ  (สถานที่หนึ่ง)        คนงาน           (อาชีพคน)
          - ไฟหน้า (อุปกรณ์รถ)          ใจดี               (นิสัยคน)
          - สมชาย (ชื่อคน)               การไฟฟ้า         (ชื่อองค์การ)


3.) คำประสมรวมคำเข้าเป็นคำใหม่คำเดียวกันแล้ว ดังนั้นคำที่มาขยายกัน ไม่ใช่คำใหม่ หรือคำเดียวกัน จึงไม่ใช่คำประสม เช่น


          - มะม่วงกวน มะม่วงแช่อิ่ม ข้าวเหนียวมะม่วง   เป็น  คำประสม
            มะม่วงเก่า มะม่วงเน่า มะม่วงเธอ               ไม่ใช่ คำประสม


          - เด็กดอง เด็กปั๊ม เด็กเฝ้ารถ                      เป็น  คำประสม
            เด็กน่ารัก เด็กคนนั้น เด็กน้อย                   ไม่ใช่ คำประสม


          - แม่บ้าน แม่ทัพ แม่น้ำ                             เป็น  คำประสม
            แม่เธอ แม่เขา แม่ผม                             ไม่ใช่ คำประสม


          - ต้มยำ ต้มเค็ม ต้มข่า                               เป็น  คำประสม
            ต้มไข่ ต้มมาม่า ต้มแล้ว                           ไม่ใช่ คำประสม


7. คำสมาส


7.1 หลักการสมาสคำ


1.) เอาคำบาลี - สันสกฤต มารวมกัน ห้ามเอาคำภาษาอื่นมารวมกัน เช่น


          - รัฐ   + กิจ      (บาลี + บาลี)
          - ศรี   + ประชา (สันสกฤต + สันสกฤต)
          - พุทธ + ศักราช (บาลี + สันสกฤต)


2.) เอาคำขยายวางหน้าคำหลัก เช่น


          วิชาเกี่ยวกับอดีต             = ประวัติ  + ศาสตร์
          วิชาเกี่ยวกับการคิดคำนวณ = คณิต    + ศาสตร์
          พาหนะทางอากาศ           = อากาศ  + ยาน
          ลัทธิเกี่ยวกับมนุษย์          = มนุษย   + นิยม
          ลัทธิเกี่ยวกับสังคม           = สังคม   + นิยม
          การช่วยสังคม                = สังคม    + สงเคราะห์


7.2 จุดสำคัญของคำสมาส


1.) คำสมาสต้องเอาเฉพาะคำแขกมารวมกัน ห้ามเอาคำภาษาอื่นมารวมกันโดยเด็ดขาด เช่น


           - พล    + เรือน   มีคำว่า “เรือน”   เป็นคำไทย     จึงไม่ใช่คำสมาส
           - ราช   + วัง     มีคำว่า “วัง”      เป็นคำไทย     จึงไม่ใช่คำสมาส
           - ทุน    + ทรัพย์ มีคำว่า “ทุน”     เป็นคำไทย     จึงไม่ใช่คำสมาส
           - สรรพ  + สินค้า มีคำว่า “สินค้า”  เป็นคำไทย      จึงไม่ใช่คำสมาส
           - ภูมิ    + ลำเนา มีคำว่า “ลำเนา” เป็นคำเขมร     จึงไม่ใช่คำสมาส
           - เคมี   + ภัณฑ์ มีคำว่า “เคมี”     เป็นคำอังกฤษ  จึงไม่ใช่คำสมาส


2.) คำสมาสจะต้องเอาคำขยายไว้หน้าคำหลัก ถ้าเอาคำหลักไว้หน้าคำขยายจะเป็นการเรียงแบบคำประสม ไม่ใช่คำสมาส เช่น

          - ผลผลิต คำหลักอยู่ที่ ผล ถ้าต้องการให้เป็นคำสมาสต้องแก้เป็น ผลิตผล
          - วิบากกรรม คำหลักอยู่ที่ วิบาก ถ้าต้องการให้เป็นคำสมาสต้องแก้เป็น กรรมวิบาก

8.คำสนธิ

1.) คำสนธิ คือ คำสมาสชนิดหนึ่ง เพียงแต่เมื่อสมาสเราจะตัดตัว “อ” ที่คำหลังแล้วเอาพยัญชนะสุดท้ายของคำหน้าไปแทนที่ เช่น


          - ศิลปะ + อากร สมาสธรรมดา ได้ว่า ศิลปอากร
                              สมาสสนธิ     ได้ว่า ศิลปากร (ตัด อ แล้วเอา ป มาแทน)


          - มห + อรรณพ สมาสธรรมดา ได้ว่า มหอรรณพ
                             สมาสสนธิ     ได้ว่า มหรรณพ (ตัด อ แล้วเอา ห มาแทน)


2.) เมื่อเราสนธิ สระบางตัวแผลงกันได้ เช่น


          อิ แผลงเป็น เอ ได้ เช่น อินทร์    แผลงเป็น  เอนทร์
          อุ แผลงเป็น โอ ได้ เช่น อุทัย     แผลงเป็น โอทัย
          อู แผลงเป็น ว   ได้ เช่น ธนู       แผลงเป็น  ธนว
          อี แผลงเป็น ย   ได้ เช่น สามัคคี  แผลงเป็น  สามัคย


3.) จุดสำคัญของเรื่องคือ เวลาจะดูว่าคำนั้นสมาสธรรมดาหรือสนธิให้แยกคำนั้นออกจากกันก่อน


          - ถ้าคำนั้นแยกกันได้เลย (ไม่ต้องเติม “อ” ที่คำหลัง) = คำสมาสธรรมดา
            เช่น วัฒนธรรม    = วัฒน + ธรรม 
                  พุทธมณฑล = พุทธ + มณฑล 


          - ถ้าคำนั้นเมื่อแยกกัน เราต้องเติมตัว “อ” ที่คำหลังถึงจะได้คำที่สมบูรณ์ = คำสนธิ
            เช่น ราโชรส        = ราช   + โอรส
                  ไพรินทร       = ไพรี   +  อินทร์
                  มหรรณพ      = มห    +  อรรณพ
                  คเชนทร์       = คช    +  อินทร์ 
                  บุญญาธิการ  = บุญญ +  อาธิการ

 

 

มหาวิทยาลัยศรีปทุม ผู้ใหญ่ใจดี
 

 ช่วยด้วยครับ
นักเรียนที่สร้างบล็อก กรุณาอย่า
คัดลอกข้อมูลจากเว็บอื่นทั้งหมด
ควรนำมาจากหลายๆ เว็บ แล้ววิเคราะห์ สังเคราะห์ และเขียนขึ้นใหม่
หากคัดลอกทั้งหมด จะถูกดำเนินคดี
ตามกฎหมายจากเจ้าของลิขสิทธิ์
มีโทษทั้งจำคุกและปรับในอัตราสูง

ช่วยกันนะครับ 
ไทยกู๊ดวิวจะได้อยู่นานๆ 
ไม่ถูกปิดเสียก่อน

ขอขอบคุณในความร่วมมือครับ

อ่านรายละเอียด

ด่วน...... ขณะนี้
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 
มีผลบังคับใช้แล้ว 
ขอให้นักเรียนและคุณครูที่ใช้งาน
เว็บ thaigoodview ในการส่งการบ้าน
ระมัดระวังการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย
อ่านรายละเอียดที่นี่ครับ

 

สมาชิกที่ออนไลน์

ขณะนี้มี สมาชิก 0 คน และ ผู้เยี่ยมชม 480 คน กำลังออนไลน์