เวลา ยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ และวิธีการทางประวัติศาสตร์

เวลาและยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ไทย

          ประวัติศาสตร์ไทยเป็นการศึกษาเรื่องราวในอดีตของมนุษย์นักประวัติศาสตร์ได้กำหนดเวลาและยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ขึ้นมา  เช่น  กำหนดเวลาเป็นปีศักราช  หรือกำหนดเป็นสหัสวรรษ  ศตวรรษ  และทศวรรษ
          ในการกำหนดยุคสมัย  นักประวัติศาสตร์ได้ถือเอาลักษณะเด่นของเหตุการณ์เป็นเกณฑ์เพื่อให้สามารถเข้าใจและจดจำยุคสมัยนั้น ๆ ได้  ประวัติศาสตร์จึงมีความสำคัญ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ศึกษาเกิดความเข้าใจง่ายและตรงกัน

          1.  ความสำคัญของเวลาและยุคสมัยทางประวัติศาสตร์
                    ในการศึกษาประวัติศาสตร์จะมีความเกี่ยวข้องกับเวลา  เพราะประวัติศาสตร์เป็นการศึกษาเรื่องราวในอดีตของมนุษย์  โดยศึกษาว่ามนุษย์มีวิถีชีวิตอย่างไร  มีความคิดอะไร  มีผลงานใดบ้าง  และการสร้างสรรค์ผลงานนั้นได้มีผลกระทบต่อพัฒนาการของมนุษย์ในอดีตและปัจจุบันอย่างไร  จึงอาจกล่าวได้ว่าการดำเนินชีวิตด้านต่าง ๆ ของมนุษย์อยู่ภายใต้เงื่อนไขของเวลามาโดยตลอด  แต่การที่มนุษย์สามารถสื่อสารกันได้เรื่องเวลาก็เพราะมนุษย์มีความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับระบบการบอกเวลาตรงกัน
                    ในสมัยประวัติศาสตร์ไทยที่มีระยะเวลาหลายร้อยปี  และเกิดเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญมากมาย  นักประวัติศาสตร์จึงได้กำหนดช่วงเวลาและยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ขึ้นเพื่อให้ง่ายแก่การจดจำ  เพื่อให้เข้าใจเหตุการณ์ตรงกัน  และเพื่อให้รู้ลักษณะเด่นของยุคสมัยทางประวัติศาสตร์นั้น ๆ ตลอดจนให้ความสำคัญต่อปีศักราช  โดยกำหนดเวลาเป็นพุทธศักราช (พ.ศ.)  จุลศักราช (จ.ศ.)  เป็นต้น
                    สำหรับการกำหนดยุคสมัยทางประวัติศาสตร์จะกำหนดตามลักษณะเด่นของเหตุการณ์  เช่น  เมื่อกล่าวถึงช่วงเวลาที่มนุษย์ยังไม่มีตัวหนังสือใช้บันทึกก็กำหนดยุคสมัยทางประวัติศาสตร์เป็น  "สมัยก่อนประวัติศาสตร์"  เมื่อกล่าวถึงช่วงเวลาที่มนุษย์เริ่มมีตัวหนังสือใช้ก็กำหนดเวลาเป็น "สมัยประวัติศาสตร์"  ส่วนการแบ่งสมัยประวัติศาสตร์ในดินแดนไทยนิยมใช้เกณฑ์การแบ่งตามอาณาจักรหรือราชธานี  หรือแบ่งตามสมัยของราชวงศ์  และแบ่งตามลักษณะสำคัญของประวัติศาสตร์

          2.  การนับและการเทียบศักราชในประวัติศาสตร์ไทย
                    การนับศักราชแบบไทยมีอยู่หลายแบบ  ซึ่งสามารถแบ่งได้ดังนี้
                              -  พุทธศักราช (พ.ศ.)  พ.ศ. ใช้กันแพร่หลายในประเทศที่ประชาชนนับถือพระพุทธศาสนา  เช่น  ไทย  ลาว  พม่าและกัมพูชา  โดยไทยเริ่มใช้ พ.ศ. มาตั้งแต่สมัยอยุธยาในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชและใช้อย่างเป็นทางการในสมัยรัชกาลที่ 6  เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน
 ประเทศไทยเริ่มนับ พ.ศ. 1 เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้ว 1 ปี
                              -  มหาศักราช (ม.ศ.)  ม.ศ. เป็นศักราชที่เริ่มใช้ในอินเดียโดยพระเจ้ากนิษกะแห่งราชวงศ์กุษาณะทรงตั้งขึ้น  และต่อมาได้แพร่หลายไปยังดินแดนที่ได้รับอารยธรรมอินเดียมหาศักราชพบมากในจารึกสมัยสุโขทัยและจารึกในดินแดนไทยรุ่นแรก ๆ
 การเทียบมหาศักราชเป็น พ.ศ. ให้บวกด้วย 621
                              -  จุลศักราช (จ.ศ.)  จ.ศ. เป็นศักราชของพม่าสมัยพุกามก่อนแพร่เข้ามาในดินแดนประเทศไทยา  นิยมใช้ในหลักฐานทางประวัติศาสตร์ไทยสมัยต่าง ๆ ทั้งสมัยสุโขทัย  อยุธยา  รัตนโกสินทร์ตอนต้น  และล้านนา
 การเทียบจุลศักราชเป็น พ.ศ. ให้บวกด้วย 1181
                              -  รัตนโกสินทร์ (ร.ศ.)  ร.ศ.  เป็นศักราชที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริขั้นใช้ในกลางรัชสมัยของพระองค์  โดยเริ่มนับ ร.ศ. 1  ในปีที่สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี คือ พ.ศ. 2325
 การเทียบรัตนโกสินทร์ศกเป็น พ.ศ. ให้บวกด้วย 2324
 นอกจากการนับศักราชที่กล่าวมา  ในบางกรณีบางเหตุการณ์ที่เราไม่ต้องนับเวลาอย่างละเอียดโดยการระบุศักราช  ก็อาจนับเวลาอย่างกว้าง ๆ ได้อีก  เช่น  สหัสวรรษ  หมายถึง  เวลาในรอบ 1,000 ปีศตวรรษ  หมายถึง  เวลาในรอบ 100 ปี  ทศวรรษ  หมายถึง เวลาในรอบ 10 ปี  เป็นต้น

          3.  การแบ่งยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ไทย
                    การแบ่งยุคสมัยทางประวัติศาสตร์ไทยนิยมแบ่งหลายแบบ  ที่ใช้กันในปัจจุบันมักเป็นการผสมระหว่างหลักเกณฑ์การแบ่งยุคสมัยของประวัติศาสตร์สากลกับหลักเกณฑ์การแบ่งยุคสมัยของประวัติศาสตร์ไทย  โดยในประวัติศาสตร์ไทยมีการแบ่งยุคสมัยทางประวัติศาสตร์คล้ายกับประวัติศาสตร์สากล  คือ  แบ่งออกเป็นสมัยก่อนประวัติศาสตร์และสมัยประวัติศาสตร์  และในแต่ละยุคสมัยได้ถูกแบ่งเป็นยุคสมัยย่อย ๆ ลงไปอีกเพื่อให้มีความชัดเจนมากขึ้น  ดังนี้
                    3.1  สมัยก่อนประวัติศาสตร์
                     สมัยก่อนประวัติศาสตร์เป็นสมัยที่ยังไม่ปรากฏหลักฐานลายลักษณ์อักษร  การแบ่งยุคสมัยจึงนิยมแบ่งตามนักโบราณคดี  ซึ่งกำหนดยุคสมัยจึงนิยมแบ่งตามนักโบราณคดี  ซึ่งกำหนดยุคสมัยตามหลักฐานเครื่องมือเครื่องใช้ของมนุษย์  สมัยก่อนประวัติศาสตร์นิยมแบ่งช่วงเวลาออกเป็นยุคหินกับยุคโลหะ
                               1)  ยุคหิน  แบ่งย่อยออกเป็นยุคต่าง ๆ ดังนี้
                                          1.1  ยุคหินเก่า  มีอายุประมาณ 700,000 ปีมาแล้ว  ดังพบหลักฐานประเภทเครื่องมือหินกรวดกะเทาะหน้าเดียวเพื่อใช้สับ ตัด ขุด  แหล่งที่พบ  เช่น  บ้านแม่ทะ  จังหวัดลำปาง  มนุษย์ยุคนี้เป็นพวกเร่ร่อน  เก็บหาของป่า  ล่าสัตว์  อยู่รวมกันเป็นกลุ่มเล็ก ๆ
                                          1.2  ยุคหินกลาง  มีอายุประมาณ 10,000 - 4,300 ปีมาแล้ว  มนุษย์ยุคนี้ทำเครื่องมือเครื่องใช้ที่มีความประณีตขึ้น  สามารถทำภาชนะดินเผาใช้ในชีวิตประจำวันโดยมีทั้งภาชนะแบบผิวเกลี้ยงและมีลวดลายที่เกิดจากการใช้เชือกทาบ  แหล่งที่พบหลักฐานยุคหินกลาง  เช่น  ที่ถ้ำไทรโยค  จังหวัดกาญจนบุรี
                                          1.3  ยุคหินใหม่  มีอายุประมาณ  4,300 ปีมาแล้ว  มนุษย์ยุคนี้รู้จักการตั้งถิ่นฐานทำเกษตรกรรม  เลี้ยงสัตว์  ทำเครื่องมือหินขัดที่มีความคม  มีผิวเรียบ  ทำเครื่องปั้นดินเผาแบบสามขา  เช่น  ที่บ้านเชียง  จังหวัดอุบลราชธานี  บ้านเก่า  จังหวัดกาญจนบุรี
                               2)  ยุคโลหะ  แบ่งออกได้ดังนี้
                                          2.1  ยุคสำริด  มีอายุประมาณ 3,500 ปีมาแล้ว  ดังพบหลักฐานเครื่องมือสำริดที่เป็นอาวุธ  เครื่องประดับ  เครื่องมือเครื่องใช้  กลองสำริด  เครื่องปั้นดินเผาลายเขียนสี  เช่น  ที่บ้านเชียง  จังหวัดอุดรธานี
                                          2.2  ยุคเหล็ก  มีอายุประมาณ 2,500 ปีมาแล้ว  ดังพบเครื่องมือเหล็กที่ทนทานและใช้ประโยชน์ได้มากกว่าเครื่องมือสำริด  เช่น  ที่บ้านดอนตาเพชร  จังหวัดกาญจนบุรี  สังคมยุคนี้มีความซับซ้อนมากขึ้น  มีการติดต่อกับต่างถิ่น  มีชนชั้น  ดังจะเห็นได้จากการฝังศพ  ที่บางศพมีข้าวของเครื่องใช้และเครื่องประดับมากมาย  แสดงถึงการเป็นบุคคลสำคัญ
                    3.2  สมัยประวัติศาสตร์
                    สมัยประวัติศาสตร์เป็นสมัยที่ปรากฏหลักฐานลายลักษณ์อักษร  หลักฐานสมัยประวัติศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุดในดินแดนไทย  คือ  ศิลาจารึก  ในหลายพื้นที่พบศิลาจารึกที่อยู่ในช่วงเวลาเดียวกัน  เช่น  ที่ศรีเทพ  จังหวัดเพชรบูรณ์  ที่ซับจำปา  จังหวัดลพบุรี  ส่วนจารึกที่ปรากฏศักราชชัดเจนที่สุด  คือ  จารึกอักษรปัลลวะ  เป็นภาษาสันสกฤตและเขมร  พบที่ปราสาทเขาน้อย  จังหวัดปราจีนบุรี  ระบุมหาศักราช 559 หรือตรงกับ พ.ศ. 1180
                              สำหรับการแบ่งสมัยประวัติศาสตร์ในดินแดนไทยโดยละเอียดมีดังนี้
                               1)  สมัยอาณาจักรรุ่นแรก ๆ  นับช่วงเวลาก่อนการตั้งอาณาจักรสุโขทัย  เช่น  อาณาจักรทวารวดี (พุทธศตวรรษที่ 11-16)  อาณาจักรละโว้ (พุทธศตวรรษที่ 12-18)  หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ  เช่น  ศิลาจารึก   เหรียญจารึก  รัฐโบราณเหล่านี้มีการสร้างสรรค์อารยธรรมภายใน  และมีการรับและแลกเปลี่ยนอารยธรรมจากภายนอก  เช่น  การรับพระพุทธศาสนา  ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู  การติดต่อค้าขายกับพ่อค้าต่างแดน  เป็นต้น
                               2)  สมัยสุโขทัย  ตั้งแต่การสถาปนากรุงสุโขทัยเมื่อ พ.ศ. 1792  จนสุโขทัยถูกรวมเข้ากับกรุงศรีอยุธยาใน พ.ศ. 2006  สมัยสุโขทัยเป็นช่วงที่มีการสร้างสรรค์วัฒนธรรมไทยหลายประการ  เช่น  ตัวหนังสือ  การนับถือพระพุทธศาสนา  การสร้างสรรค์ศิลปะที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของตนเอง  เช่น  เจดีย์ทรงดอกบัวตูมหรือทรงพุ่มข้าวบิณฑ์  พระพุทธรูปปางลีลา  เป็นต้น
                               3)  สมัยอยุธยา  ตั้งแต่ พ.ศ. 1893 - 2310  สามารถแบ่งออกเป็นสมัยย่อยได้อีก  โดยแบ่งตามสมัยของราชวงศ์และแบ่งตามลักษณะสำคัญของประวัติศาสตร์
                                          3.1  แบ่งตามราชวงศ์ที่ปกครอง  ได้แก่  ราชวงศ์อู่ทอง (พ.ศ. 1893-1913 และ พ.ศ. 1931-1952)  ราชวงศ์สุพรรณภูมิ (พ.ศ. 1913-1931 และ พ.ศ. 1952-2112)  ราชวงศ์สุโขทัย (พ.ศ. 2112-2173)  ราชวงศ์ปราสาททอง (พ.ศ. 2173-2231)  ราชวงศ์บ้านพลูหลวง (พ.ศ. 2231-2310)
                                          3.2  แบ่งตามลักษณะสำคัญของประวัติศาสตร์  ได้แก่
                                                     (1)  สมัยการวางรากฐานและการสร้างความมั่นคง  เริ่มตั้งแต่การตั้งอาณาจักรเป็นสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (อู่ทอง) ใน พ.ศ. 1893 จนถึงสมัยสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ 2 (เจ้าสามพระยา)  ในพ.ศ. 1991  เป็นช่วงที่อาณาจักรยังมีขนาดเล็ก  ต่อมาได้ขยายอำนาจไปโจมตีอาณาจักรขอม  ทำให้ราชสำนักอยุธยาได้รับวัฒนธรรมขอมเข้ามา  รวมทั้งการทำการค้ากับต่างชาติ  เช่น  จีน
                                                     (2)  สมัยแห่งความมั่นคงทางการเมืองและเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจเริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 1991  ในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถถึงสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชใน พ.ศ. 2231  เป็นช่วงที่ระบบการปกครองมีระเบียบแบบแผน  มีความมั่นคง  มีการติดต่อค้าขายกับต่างชาติอย่างกว้างขวาง
                                                     (3)  สมัยเสื่อมอำนาจ  ตั้งแต่ พ.ศ. 2231-2310  เป็นสมัยที่มีกบฏภายใน  มีการแย่งชิงอำนาจกันเองหลายครั้ง  ส่งผลให้ราชสำนักอ่อนแอและเสียกรุงใน พ.ศ. 2310
                                                     (4)  สมัยธนบุรี  ตั้งแต่ พ.ศ. 2310-2325  เป็นสมัยของการฟื้นฟูบ้านเมืองหลังเสียกรุงศรีอยุธยา  มีการทำสงครามเกือบตลอดเวลา
                                                     (5)  สมัยรัตนโกสินทร์  ตั้งแต่ พ.ศ. 2325-ปัจจุบัน  มีการแบ่งเป็นสมัยย่อยโดยยึดตามการเปลี่ยนแปลงของบ้านเมืองและการปกครองร่วมกัน  โดยแบ่งได้ดังนี้
                                                                5.1  สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น  ตั้งแต่ พ.ศ. 2325-2394  อยู่ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 1-รัชกาลที่ 3  เป็นช่วงการฟื้นฟูอาณาจักรในทุกด้านต่อจากสมัยธนบุรี
                                                                5.2  สมัยรัตนโกสินทร์ยุคกลางปรับปรุงประเทศ  ตั้งแต่ พ.ศ. 2394-2495  อยู่ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 4-รัชกาลที่ 7  เป็นช่วงที่มีการติดต่อกับต่างชาติ  มีการปรับปรุงประเทศให้ทันสมัยตามแบบตะวันตก  จนถึงการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตย
                                                                5.3  สมัยประชาธิปไตย  ตั้งแต่ พ.ศ. 2475  จนถึงปัจจุบัน  เป็นช่วงที่มีการปกครองแบบประชาธิปไตย  มีรัฐธรรมนูญเป็นกฏหมายสูงสุดในการปกครองประเทศประชาชนมีสิทธิเสรีภาพทางการเมือง  บ้านเมืองขยายตัวอย่างรวดเร็ว

         4.ขั้นตอนวิธีการทางประวัติศาสตร์

ขั้นตอนที่ 1 การกำหนดเป้าหมาย

ขั้นตอนที่ 1 การกำหนดเป้าหมาย เป็นขั้นตอนแรกนักประวัติศาสตร์ต้องมีจุดประสงค์ชัดเจนว่าจะศึกษาอะไร อดีตส่วนไหน สมัยอะไร และเพราะเหตุใด เป็นการตั้งคำถามที่ต้องการศึกษา นักประวัติศาสตร์ต้องอาศัยการอ่าน การสังเกต และควรต้องมีความรู้กว้างๆ ทางประวัติศาสตร์ในเรื่องนั้นๆมาก่อนบ้าง ซึ่งคำถามหลักที่นักประวัติศาสตร์ควรคำนึงอยู่ตลอดเวลาก็คือทำไมและเกิดขึ้นอย่างไร

ขั้นตอนที่ 2 การรวบรวมข้อมูล

ขั้นตอนที่ 2 การรวบรวมข้อมูล
หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ให้ข้อมูล มีทั้งหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร และหลักฐานที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร มีทั้งที่เป็นหลักฐานชั้นต้น(ปฐมภูมิ) และหลักฐานชั้นรอง(ทุติยภูมิ)
การรวบรวมข้อมูลนั้น หลักฐานชั้นต้นมีความสำคัญ และความน่าเชื่อถือมากกว่าหลักฐานชั้นรอง แต่หลักฐานชั้นรองอธิบายเรื่องราวให้เข้าใจได้ง่ายกว่าหลักฐานชั้นรอง
ในการรวบรวมข้อมูลประเภทต่างๆดังกล่าวข้างต้น ควรเริ่มต้นจากหลักฐานชั้นรองแล้วจึงศึกษาหลักฐานชั้นต้น ถ้าเป็นหลักฐานประเภทไม่เป็นลายลักษณ์อักษรก็ควรเริ่มต้นจากผลการศึกษาของนักวิชาการที่เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน ก่อนไปศึกษาจากของจริงหรือสถานที่จริง
การศึกษาประวัติศาสตร์ที่ดีควรใช้ข้อมูลหลายประเภท ขึ้นอยู่กับว่าผู้ศึกษาต้องการศึกษาเรื่องอะไร ดังนั้นการรวบรวมข้อมูลที่ดีจะต้องจดบันทึกรายละเอียดต่างๆ ทั้งข้อมูลและแหล่งข้อมูลให้สมบูรณ์และถูกต้อง เพื่อการอ้างอิงที่น่าเชื่อถือ

ขั้นตอนที่ 3 การประเมินคุณค่าของหลักฐาน

ขั้นตอนที่ 3 การประเมินคุณค่าของหลักฐาน
วิพากษ์วิธีทางประวัติศาสตร์ คือ การตรวจสอบหลักฐานและข้อมูลในหลักฐานเหล่านั้นว่า มีความน่าเชื่อถือหรือไม่ ประกอบด้วยการวิพากษ์หลักฐานและวิพากษ์ข้อมูลโดยขั้นตอนทั้งสองจะกระทำควบคู่กันไป เนื่องจากการตรวจสอบหลักฐานต้องพิจารณาจากเนื้อหา หรือข้อมูลภายในหลักฐานนั้น และในการวิพากษ์ข้อมูลก็ต้องอาศัยรูปลักษณะของหลักฐานภายนอกประกอบด้วยการวิพากษ์หลักฐานหรือวิพากษ์ภายนอก
การวิพากษ์หลักฐาน (external criticism) คือ การพิจารณาตรวจสอบหลักฐานที่ได้คัดเลือกไว้แต่ละชิ้นว่ามีความน่าเชื่อถือเพียงใด แต่เป็นเพียงการประเมินตัวหลักฐาน มิได้มุ่งที่ข้อมูลในหลักฐาน ดังนั้นขั้นตอนนี้เป็นการสกัดหลักฐานที่ไม่น่าเชื่อถือออกไปการวิพากษ์ข้อมูลหรือวิพากษ์ภายใน
การวิพากษ์ข้อมูล (internal criticism) คือ การพิจารณาเนื้อหาหรือความหมายที่แสดงออกในหลักฐาน เพื่อประเมินว่าน่าเชื่อถือเพียงใด โดยเน้นถึงความถูกต้อง คุณค่า ตลอดจนความหมายที่แท้จริง ซึ่งนับว่ามีความสำคัญต่อการประเมินหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษร เพราะข้อมูลในเอกสารมีทั้งที่คลาดเคลื่อน และมีอคติของผู้บันทึกแฝงอยู่ หากนักประวัติศาสตร์ละเลยการวิพากษ์ข้อมูลผลที่ออกมาอาจจะผิดพลาดจากความเป็นจริง

ขั้นตอนที่ 4 การตีความหลักฐาน

ขั้นตอนที่ 4 การตีความหลักฐาน
การตีความหลักฐาน หมายถึง การพิจารณาข้อมูลในหลักฐานว่าผู้สร้างหลักฐานมีเจตนาที่แท้จริงอย่างไร โดยดูจากลีลาการเขียนของผู้บันทึกและรูปร่างลักษณะโดยทั่วไปของประดิษฐกรรมต่างๆเพื่อให้ได้ความหมายที่แท้จริงซึ่ง
อาจแอบแฟงโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม
ในการตีความหลักฐาน นักประวัติศาสตร์จึงต้องพยายามจับความหมายจากสำนวนโวหาร ทัศนคติ ความเชื่อ ฯลฯ ของผู้เขียนและสังคมในยุคสมัยนั้นประกอบด้วย เพื่อทีจะได้ทราบว่าถ้อยความนั้นนอกจากจะหมายความตามตัวอักษรแล้ว ยังมีความหมายที่แท้จริงอะไรแฝงอยู่

ขั้นตอนที่ 5 การสังเคราะห์และการวิเคราะห์ข้อมูล

ขั้นตอนที่ 5 การสังเคราะห์และการวิเคราะห์ข้อมูล จัดเป็นขั้นตอนสุดท้ายของวิธีการทางประวัติศาสตร์ ซึ่งผู้ศึกษาค้นคว้าจะต้องเรียบเรียงเรื่อง หรือนำเสนอข้อมูลในลักษณะที่เป็นการตอบหรืออธิบายความอยากรู้ ข้อสงสัยตลอดจนความรู้ใหม่ ความคิดใหม่ที่ได้จากการศึกษาค้นคว้านั้น
ในขั้นตอนนี้ ผู้ศึกษาจะต้องนำข้อมูลที่ผ่านการตีความมาวิเคราะห์ หรือแยกแยะเพื่อจัดแยกประเภทของเรื่อง โดยเรื่องเดียวกันควรจัดไว้ด้วยกัน รวมทั้งเรื่องที่เกี่ยวข้องหรือสัมพันธ์กัน เรื่องที่เป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและกัน จากนั้นจึงนำเรื่องทั้งหมดมาสังเคราะห์หรือรวมเข้าด้วยกัน คือ เป็นการจำลองภาพบุคคลหรือเหตุการณ์ในอดีตขึ้นมาใหม่ เพื่อให้เห็นความสัมพันธ์และความต่อเนื่อง โดยอธิบายถึงสาเหตุต่างๆ ที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และผล ทั้งนี้ผู้ศึกษาอาจนำเสนอเป็นเหตุการณ์พื้นฐาน หรือเป็นเหตุการณ์เชิงวิเคราะห์ก็ได้ ขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมายของการศึกษา

           5.การสร้างองค์ความรู้ใหม่ทางประวัติศาสตร์ไทย
          ประวัติศาสตร์ไทยเป็นวิชาที่ศึกษาเรื่องราวในอดีตที่ผ่านพ้นไปแล้ว  โดยอาศัยหลักฐานที่ยังคงเหลืออยู่ในปัจจุบัน  ทั้งนี้นักประวัติศาสตร์จะมีกระบวนการเขียนประวัติศาสตร์  ที่เรียกว่า  "วิธีการทางประวัติศาสตร์"  อย่างเป็นระบบซึ่งต้องอาศัยการสืบค้นหลักฐาน การตรวจสอบความถูกต้องของหลักฐานข้อมูล  ทำให้สามารถสร้างองค์ความรู้ใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ  มีความน่าเชื่อถือและมีเหตุผล  ซึ่งการเรียนรู้วิธีการทางประวัติศาสตร์จะช่วงให้ผู้ศึกษารู้จักสืบค้นข้อมูลอย่างเป็นระบบในการแสวงหาคำตอบ
          1.  ความสำคัญและประโยชน์ของวิธีการทางประวัติศาสตร์
วิธีการทางประวัติศาสตร์เป็นวิธีการหรือขั้นตอนที่ใช้ศึกษาค้นคว้าวิจัยเกี่ยวกับเรื่องราวทางประวัติศาสตร์  โดยอาศัยจากหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรเป็นสำคัญ  ประกอบกับหลักฐานที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อฟื้นเรื่องราวในอดีตได้อย่างถูกต้องสมบูรณ์และน่าเชื่อถือ
          ปัญหาสำคัญาประการหนึ่งในการศึกษาประวัติศาสตร์  คือ  เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่ได้มีการศึกษาและเขียนขึ้นใหม่และหลักฐานที่นำมาใช้เป็นข้อมูลนั้นมีความถูกต้อง  น่าเชื่อถือเพียงใด  เพราะเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์มีอยู่มากมาย  และหลักฐานที่เป็นลายลักษณ์อักษรบางประการอาจใช้ข้อมูลไม่รอบด้าน
          หากนักประวัติศาสตร์ใช้หลักฐานที่อาจให้ข้อมูลเพียงบางส่วน  ก็จะทำให้เรื่องราวทางประวัติศาสตร์ที่ตนเขียนขึ้นขาดความถูกต้อง  ไม่น่าเชื่อถือ 

ผู้จัดทำ

น.ส.กมลรัตน์  เลิศบุญวัฒนา  ม.4/3 เลขที่ 3

น.ส.สุดารัตน์  เชยรัมย์  ม.4/3 เลขที่ 8

น.ส.ปนัดดา  ทองดี  ม.4/3 เลขที่ 25

น.ส.รจนา  กันสุข  ม.4/3 เลขที่ 6

น.ส.พิมลภา วรปริญญาพร  ม.4/3 เลขที่ 27

มหาวิทยาลัยศรีปทุม ผู้ใหญ่ใจดี
 

 ช่วยด้วยครับ
นักเรียนที่สร้างบล็อก กรุณาอย่า
คัดลอกข้อมูลจากเว็บอื่นทั้งหมด
ควรนำมาจากหลายๆ เว็บ แล้ววิเคราะห์ สังเคราะห์ และเขียนขึ้นใหม่
หากคัดลอกทั้งหมด จะถูกดำเนินคดี
ตามกฎหมายจากเจ้าของลิขสิทธิ์
มีโทษทั้งจำคุกและปรับในอัตราสูง

ช่วยกันนะครับ 
ไทยกู๊ดวิวจะได้อยู่นานๆ 
ไม่ถูกปิดเสียก่อน

ขอขอบคุณในความร่วมมือครับ

อ่านรายละเอียด

ด่วน...... ขณะนี้
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 
มีผลบังคับใช้แล้ว 
ขอให้นักเรียนและคุณครูที่ใช้งาน
เว็บ thaigoodview ในการส่งการบ้าน
ระมัดระวังการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย
อ่านรายละเอียดที่นี่ครับ

 

สมาชิกที่ออนไลน์

ขณะนี้มี สมาชิก 0 คน และ ผู้เยี่ยมชม 311 คน กำลังออนไลน์