ไพเราะเสนาะฉันท์

Homeสุขสันต์เรื่องเฉพาะไพเราะเสนาะฉันท์เกี่ยวพันผู้แต่งมิติการเรียนรู้เจาะดูแนวคิด

 

ความเป็นมา 
การอ่านฉันท์ 
การแต่งฉันท์ 
ตัวอย่างฉันท์ 1 
ตัวอย่างฉันท์ 2 

ความเป็นมา

      ฉันท์  คือลักษณะของบทร้อยกรองชนิดหนึ่งที่เน้นเสียงหนักเบา ( ครุลหุ ) เวลาอ่าน ฉันท์นี้ไทยได้รูปแบบมาจากอินเดีย  ซึ่งเดิมแต่งเป็นภาษาบาลีและสันสกฤต โดยเฉพาะในภาษาบาลี มีตำราที่กล่าวถึงวิธีแต่งฉันท์ไว้เป็นแบบเฉพาะ โดยเรียกชื่อว่า  “ คัมภีร์วุตโตทัย” ต่อมาไทยได้จำลองแบบมาแต่งในภาษาไทย  โดยเพิ่มบังคับสัมผัสขึ้นเพื่อให้เกิดความไพเราะตามแบบนิยมของไทย

    ฉันท์ในภาษาบาลีและสันสกฤตแบ่งออกเป็น  ๒  ชนิดคือ
    ๑.  ฉันท์วรรณพฤติ  เป็นฉันท์ที่กำหนดด้วยตัวอักษร คือวางคณะและกำหนดให้มีเสียงหนักเบาที่เรียกว่า ครุ – ลหุ เป็นสำคัญ
    ๒.  ฉันท์มาตราพฤติ เป็นฉันท์ที่กำหนดด้วยมาตรา  คือจังหวะสั้นของมาตราเสียงเป็นสำคัญ  นับคำลหุเป็น ๑  มาตรา  ไม่กำหนดตัวอักษรเหมือนอย่างวรรณพฤติ

       ฉันท์มีชื่อต่างๆตามที่ปรากฏในคัมภีร์วุตโตทัย มีถึง ๑๐๘ ฉันท์ แต่ไทยเราดัดแปลงเอามาใช้ไม่หมด  คงเลือกเอาเฉพาะที่เห็นว่าไพเราะ มีทำนองสละสลวยและเหมาะแก่การที่จะบรรจุคำในภาษาไทยได้ดีเท่านั้น ฉันท์ที่นิยมแต่งในภาษาไทยใช้ฉันท์วรรณพฤติเป็นพื้นส่วนใหญ่  ที่เป็นมาตราพฤติไม่ค่อยปรากฏมีผู้นิยมแต่ง  เพราะจังหวะและทำนองที่อ่านในภาษาไทยไม่สู้จะไพเราะเหมือนฉันท์วรรณพฤติ  แม้ฉันท์วรรณพฤติที่แปลงมาเป็นภาษาไทยแล้ว ก็ไม่นิยมแต่งทั้งหมด

        เรื่องมัทนะพาธาใช้คำประพันธ์หลายชนิดแต่เน้นแต่งด้วยฉันท์ บางตอนใช้กาพย์ยานี กาพย์ฉบังหรือกาพย์สุรางคนางค์ และมีบทเจรจาร้อยแก้วในส่วนของตัวละครที่ไม่สำคัญ ทำให้มีลีลาภาษาที่หลากหลาย ตอนใดดำเนินเรื่องรวดเร็วก็ใช้ร้อยแก้ว ตอนใดต้องการจังหวะเสียงและความคล้องจองก็ใช้กาพย์ และตอนใดที่เน้นอารมณ์มากก็มักใช้ฉันท์ เช่น ตอนที่สุเทษณ์ตัดพ้อและมัทนาเจรจาตอบใช้วสันตดิลก แสดงจังหวะรวดเร็วของถ้อยคำเสริมให้คารมโต้ตอบกันมีลีลาฉับไวและทันกัน

       นอกจากนี้การศึกษาให้เข้าใจรูปแบบและลักษณะบังคับของฉันท์ จะช่วยให้ผู้อ่านเข้าใจคำประพันธ์ประเภทฉันท์  สามารถอ่านออกเสียงได้ถูกต้อง  และเข้าใจความหมายได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ความรู้เรื่องฉันท์ที่จะกล่าวถึงต่อไปในบทนี้  มีจุดประสงค์เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับลักษณะบังคับหรือฉันท์ของฉันท์ที่กวีไทยนิยมแต่ง  และปรากฏอยู่ในวรรณคดีประเภทคำฉันท์ของไทย  เพื่อให้นักเรียนใช้เป็นความรู้พื้นฐานในการแต่งฉันท์ และในการอ่านวรรณคดีไทยให้เข้าใจยิ่งขึ้น

 

จำนวนผู้เข้าใช้งาน
ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2552

บริหารและจัดการโดยทีมงานชาวมัธยมศึกษาและประถมศึกษา
e-mail: webmaster@thaigoodview.com

จัดทำโดย  ครูวัชรี  วรินทรีย์
โรงเรียนพิชัย  อำเภอพิชัย  จังหวัดอุตรดิตถ์
Copyright(c)2009 Mrs.Watcharee Warinsee. All rights reserverd.