สงกรานต์

 

 

 

            ประเพณีวันสงกรานต์ เป็นประเพณีที่จัดขึ้นในระหว่างวันที่ 13 - 15 เมษายน ของ ทุกปี  ในสมัยก่อนจะถือว่าช่วงวันสงกรานต์เป็นวันหยุด เรียกว่า วันเนา ห้ามทุกคนทำงานใน 3  วันนี้ ถ้าใครทำงานจะถือว่าเป็นการทำบาป นอกจากนี้หมู่บ้านในตำบลหันทรายจะมีประเพณีซึ่งยึดถือปฏิบัติกันมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน จัดเป็นเอกลักษณ์ของชุมชน ที่หมู่บ้านอื่นๆนั้นไม่มี ได้แก่ ประเพณีการสรงน้ำพระ ประเพณีการแห่ดอกไม้ ประเพณีรดน้ำดำหัวผู้เฒ่าผู้แก่ในหมู่บ้าน และประเพณีการสรงน้ำหอกลางบ้าน

 ประเพณีการสรงน้ำพระ คือ การที่นิมนต์พระพุทธรูปลงจากวัด โดยจะมีการปลูกกระท่อมไว้ด้านล่าง แล้วอัญเชิญพระพุทธรูปไปตั้งไว้ในกระท่อม ชาวบ้านจะเรียกกันว่า พิธีเชิญพระลง ซึ่งจะทำกันในวันที่ 13 เมษายน ของทุกปี ก่อนเวลาเที่ยงจะมีการตีกลองเรียกชาวบ้านให้มารวมกัน โดยชาวบ้านจะเตรียมดอกไม้ ธูป เทียน มากราบไหว้บูชาพระ แล้วอธิษฐานเชิญ     พระลงมาสรงน้ำ จากนั้นชาวบ้านจะใช้น้ำอบ น้ำปรุง หรือน้ำหอมที่เตรียมมาในการสรงน้ำพระ         และในช่วงเย็นของวันเดียวกันนี้เวลาประมาณ 4 โมงเย็น ก็จะมีการตีกลองเรียกชาวบ้านให้มารวมกันอีกครั้งหนึ่ง เพื่อมาร่วมขบวนแห่ดอกไม้ตามประเพณีของตำบลหันทราย

  •  ประเพณีการแห่ดอกไม้

             ประเพณีการแห่ดอกไม้นี้ เป็นประเพณีเก่าแก่ของชาวบ้านในตำบลหันทราย ที่แสดงให้เห็นถึงความมีเอกลักษณ์ของชาวบ้านในชุมชน เพราะเป็นประเพณีที่มีอยู่เฉพาะในตำบล  หันทรายนี้เท่านั้น โดยจะมีการตีกลองเพื่อเรียกชาวบ้านให้มารวมกันที่วัด และตั้งขบวนแห่ดอกไม้ประมาณ 5 โมงเย็น ใช้ขบวนกลองยาวเดินนำหน้าขบวนชาวบ้านที่จะรำไปด้วยอย่างสนุกสนาน นอกจากนี้ยังมีการรำมวยลิงร่วมอยู่ในขบวนแห่ด้วย ขบวนจะเริ่มแห่ออกจากวัดทุ่งสว่างอารมณ์เย็น  ผ่านไปตามทางของหมู่บ้าน ซึ่งจะมีพระจากวัดหันทราย ( ใหม่ ) รอขบวนอยู่     กลางทาง เมื่อขบวนแห่ดอกไม้จากวัดทุ่งสว่างอารมณ์เย็นเดินทางมาถึง ก็จะรวมเข้าเป็นขบวนเดียวกัน ซึ่งในสมัยก่อนนั้นจะแห่ขบวนไปตามป่า และเก็บดอกไม้ในป่า เรียกว่า ไม้โมก เมื่อเก็บดอกไม้ได้แล้วก็จะแห่ขบวนเข้าหมู่บ้าน ในระหว่างทางนั้นจะมีชาวบ้านนำถังใส่น้ำผสมน้ำอบ หรือน้ำหอมออกมาตั้งไว้หน้าบ้าน เวลาขบวนแห่เดินผ่านชาวบ้านที่ถือดอกไม้ก็จะเอาดอกไม้นั้นจุ่ม  ลงไปในน้ำเพื่อให้ดอกไม้สดชื่น ไม่เหี่ยวเฉา  ขบวนแห่นี้จะไปสิ้นสุดที่วัดหันทราย ( ใหม่ ) ดอกไม้ที่เก็บมาได้ก็จะนำมาบูชาพระพุทธรูป โดยจะมีผู้เฒ่าผู้แก่ของหมู่บ้านนำสวดมนต์ และถวายดอกไม้  ซึ่งชาวบ้านจะแบ่งดอกไม้เก็บเอาไว้ครึ่งหนึ่ง เพื่อนำกลับไปบูชาพระพุทธรูปที่วัดทุ่งสว่าง-   อารมณ์เย็น เมื่อเสร็จพิธีแล้วขบวนแห่ดอกไม้ก็จะเดินย้อนกลับไปที่วัดทุ่งสว่างอารมณ์เย็น         แต่จะใช้เส้นทางเดินคนละทางกับตอนแห่ขบวนมาที่วัดหันทราย ( ใหม่ ) เมื่อขบวนแห่เดินทางกลับมาถึงที่วัดทุ่งสว่างอารมณ์เย็น ก็จะมีผู้เฒ่าผู้แก่ของหมู่บ้านนำสวดมนต์ และถวายดอกไม้  เช่นเดียวกัน ตกกลางคืนก็จะมีการทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น การเล่นชักเย่อ การละเล่นพื้นบ้านต่างๆ  เหล่านี้เป็นต้น

              ในปัจจุบันนี้ประเพณีการแห่ดอกไม้ได้เปลี่ยนมาใช้ดนตรีสากล หรือที่ชาวบ้าน   เรียกว่า แคนประยุกต์ ในการนำหน้าขบวนแห่ดอกไม้แทนขบวนกลองยาว และในตอนกลางคืนก็จะมีการแสดงมหรสพต่าง ๆ แทนการละเล่นแบบพื้นบ้าน

              ประเพณีการแห่ดอกไม้นี้ จะมีทั้งหมด 3 วันด้วยกัน คือในวันที่ 13 , 14 และวันที่ 15 เมษายน ของทุกปี ซึ่งชาวบ้านมีความเชื่อกันว่าประเพณีการแห่ดอกไม้นี้เป็นประเพณีที่จะช่วยอนุรักษ์ป่าไม้ให้มีความอุดมสมบูรณ์และคงอยู่คู่หมู่บ้านสืบต่อไป

  ภาพที่  9 แสดงขบวนแห่ดอกไม้

ภาพที่ 10 แสดงการถวายดอกไม้บูชาพระพุทธรูป

ภาพที่  11  แสดงประเพณีการรดน้ำดำหัว

  •  ประเพณีการรดน้ำดำหัว

           เมื่อถึงเทศกาลปีใหม่ของไทย คือวันสงกรานต์ของทุกปี ชาวบ้านที่ตำบลหันทรายจะมีประเพณีอีกอย่างหนึ่งที่ปฏิบัติกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ คือประเพณีการรดน้ำดำหัวผู้เฒ่าผู้แก่ของหมู่บ้าน ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 14 เมษายน ของทุกปี ที่วัดทุ่งสว่างอารมณ์เย็น โดยจะมีการจัดเก้าอี้นั่งไว้เป็น 2 แถว แถวแรกสำหรับพระภิกษุสงฆ์และสามเณร แถวที่สองสำหรับผู้เฒ่าผู้แก่ของ    หมู่บ้าน พอถึงเวลาประมาณบ่ายโมงก็จะเชิญพระภิกษุสงฆ์ สามเณร และผู้เฒ่าผู้แก่ของหมู่บ้าน ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มานั่งเก้าอี้ในแถวที่จัดเตรียมไว้ ชาวบ้านจะรวมกลุ่มกันนำน้ำอบ น้ำหอมใส่ขันหรือภาชนะต่างๆ มาสรงน้ำพระภิกษุสงฆ์และสามเณร แล้วจึงพากันเดินไปรดน้ำดำหัวผู้เฒ่า   ผู้แก่ของหมู่บ้าน เพื่อเป็นการขอพรจากผู้ใหญ่ที่ทุกคนในหมู่บ้านให้ความเคารพนับถือ

          หากมีผู้เฒ่าผู้แก่ของหมู่บ้านคนใดที่ไม่สามารถเดินทางมาร่วมงานในพิธีได้      ชาวบ้านก็จะพากันรวมกลุ่มไปรดน้ำดำหัวให้กับท่านที่บ้าน

  •  ประเพณีสรงหอกลางบ้าน

           หอกลางบ้าน ถือเป็นหอศักดิ์สิทธิ์ประจำหมู่บ้าน ที่ชาวบ้านในตำบลหันทรายให้ความเคารพนับถือ หอกลางบ้านนี้จะมีคนคอยดูแล และบำรุงรักษา ซึ่งชาวบ้านจะเรียกกันว่า จ้ำ  ผู้ที่จะมาทำหน้าที่เป็นจ้ำได้นั้น จะต้องได้รับการคัดเลือกจากชาวบ้าน โดยส่วนมากจะต้องมี     คุณสมบัติดังต่อไปนี้ คือ

           1. ต้องเป็นผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับขนบธรรมเนียม และพิธีรีตรองต่างๆ เป็นอย่างดี

           2. ต้องเป็นผู้ที่มีความนอบน้อม ถ่อมตน และมีความอ่อนโยน

           3. ต้องเป็นทายาทของจ้ำคนก่อน ซึ่งชาวบ้านจะเรียกกันว่า เชื้อ เมื่อมีการคัดเลือกจ้ำคนใหม่ ผู้ที่เป็นเชื้อนี้ก็จะได้รับการพิจารณาเป็นอันดับแรก

           ชาวบ้านมีความเชื่อกันว่า หากหอกลางบ้านไม่พอใจจ้ำคนไหน ก็จะมีเหตุการณ์ต่างๆปรากฏให้เห็นได้ชัดเจน เช่น มีชาวบ้านเสียชีวิตต่อเนื่องกันไม่ต่ำกว่า 10 ศพ เป็นต้น เมื่อเกิดเหตุการณ์ประหลาดเหล่านี้ขึ้น ชาวบ้านก็จะรวมกันทำพิธีการทรงเจ้า เพื่อสอบถาม หอกลางบ้านให้ทราบถึงสาเหตุที่ไม่พอใจ และจัดหาจ้ำคนใหม่ให้กับหอกลางบ้าน

            ประเพณีการสรงหอกลางบ้าน จะจัดขึ้นในวันที่ 15 เมษายน ของทุกปี ที่วัดหันทราย ( ใหม่ ) อันเป็นที่ตั้งของหอกลางบ้าน การสรงหอกลางบ้านนี้จะทำก่อนถึงเวลาเที่ยงวัน ชาวบ้านจะไปรวมตัวกันที่หอกลางบ้าน โดยเตรียมน้ำอบ หรือน้ำหอมใส่ขันหรือภาชนะต่างๆ สำหรับมาสรงหอกลางบ้าน พอได้เวลาจ้ำจะเป็นผู้ที่สรงหอกลางบ้านเป็นคนแรก หลังจากนั้น ชาวบ้านก็จะเข้าไปสรงหอกลางบ้าน โดยมีจ้ำและผู้ช่วยของจ้ำคอยขัดถูทำความสะอาดบริเวณหอกลางบ้าน ในระหว่างที่ชาวบ้านร่วมกันสรงหอกลางบ้านนั่นเอง

            ประเพณีการสรงหอกลางบ้านนี้ เป็นประเพณีที่ชาวบ้านในตำบลหันทรายถือว่ามีความสำคัญมากที่สุดในประเพณีวันสงกรานต์ ซึ่งชาวบ้านทุกคนต้องไปร่วมสรงหอกลางบ้าน    เพราะเป็นหอศักดิ์สิทธิ์ที่ทุกคนในหมู่บ้านให้ความเคารพนับถือ นอกจากนี้ชาวบ้านยังมีความเชื่อว่าต้องสรงหอกลางบ้านก่อน แล้วจึงจะสรงน้ำพระได้ หากสรงน้ำพระก่อนที่จะสรงหอกลางบ้านจะทำให้ชาวบ้านในตำบลมีอันเป็นไป

ภาพที่  12 แสดงการสรงหอกลางบ้าน

ภาพที่ 13 แสดงการสรงหอกลางบ้าน

bar_green.gif

จัดทำโดย
นางพรพี ดุจเฉลิม โรงเรียนบ้านหันทราย จังหวัดสระแก้ว
copyright (c) Ms.Pronrapee Dujchaloem. All right reserved.

จำนวนผู้เข้าใช้งาน
ตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550

thaigoodview.com Version 13.0
บริหารและจัดการโดยทีมงานชาวมัธยมศึกษาและประถมศึกษา
e-mail: webmaster@thaigoodview.com

Copyright(c) 2006 www.thaigoodview.com. All rights reserved.