ความเป็นอยู่

 

Homeผู้จัดทำประวัติศาสตร์กรุงสุโขทัยกรุงศรีอยุธยากรุงธนบุรีกรุงรัตนโกสินทร์
ความเป็นอยู่ 
ศาสนา 
ประเพณี 
ศึกสงคราม 

   

สภาพความเป็นอยู่ของชาวสุโขทัยจากศิลาจารึก

                   สุโขทัยเป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ มีที่ดินทำกินมากมาย ชาวเมืองปลูกต้นไม้รอบนอกตัวเมืองสุโขทัยทั้ง 4 ด้าน คือ ด้านทิศตะวันออก ปลูกสวนหมาก สวนพลู สวนมะม่วง สวนมะขาม ทิศตะวันตก ปลูกสวนมะม่วง ทิศเหนือ (เบื้องปลายตีนนอน) ปลูกสวนมะพร้าว และสวนหมากลาง (ขนุน) ส่วนทิศใต้ (เบื้องหัวนอน) ปลูกทั้งสวนมะม่วง สวนมะขาม สวนมะพร้าว และสวนหมากลาง ดังกล่าวไว้ในศิลาจารึก หลักที่ 1 ว่า

                   กลางเมืองสุโขไทนี้มีพระพิหาร มีพระพุทธรูปทอง มีพระอัฏฐารศ มีพระพุทธรูป มีพระพุทธรูปอันใหญ่ มีพระพุทธรูปอันราม มีพระพิหารอันใหญ่ มีพระพิหารอันราม มีปู่ครู..... มีเถร มีมหาเถร
                       เบื้องตะวันตกเมืองสุโขไทยนี้ มีอรัญญิก พ่อขุนรามคำแห่งกระทำอวยทานแก่มหาเถร สังฆราช ปราชญ์เรียนจบปิฎกไตร.....
                       เบื้องตะวันออกเมืองสุโขไทนี้ มีพิหาร มีปู่ครู มีทะเลหลวง มีป่าหมากป่าพลู มีไร่มีนา มีถิ่นฐาน มีบ้านใหญ่บ้านเล็ก มีป่าม่วงป่าขาม ดูงามดังแกล้งแต่ง
                       เบื้องตีนนอนเมืองสุโขไทนี้ มีตลาดปสาน มีพระอัจนะ มีปราสาท มีป่าหมากพร้าว ป่าหมากลาง มีไร่มีนา มีถิ่ฐาน มีบ้านใหญ่บ้านเล็ก
                       เบื้องหัวนอนเมืองสุโขไทนี้ มีกุฎีพิหารปู่ครูอยู่  มีสรีดภงส์ มีป่าลาง มีป่าม่วงป่าขาม มีน้ำโคก มีพระขะพุงผี.....

                     สังคมชาวเมืองสุโขทัย เป็นสังคมที่เรียบง่าย เพราะประชาชนมีจำนวนไม่มาก จึงใกล้ชิดสนิทสนมกันเหมือนพี่เหมือนน้อง และเคารพพระมหากษัตริย์ดุจบุตรที่มีความเคารพต่อบิดาของตน ส่วนพระมหากษัตริย์ทรงปกครองราษฎรเยี่ยงบิดาปกครองบุตร ทรงเข้าถึงจิตใจ และให้ความใกล้ชิดและเป็นกันเองกับราษฎร เมื่อราษฎรมีเรื่องทุกข์ร้อนก็สามารถกราบบังคมทูลได้ด้วยตนเอง โดยการมาสั่นกระดิ่งที่ประตูไม่ว่าจะเป็นเวลาใด พระองค์จะเสด็จมารับฟังทุกเรื่องด้วยพระองค์เอง ด้วยดังปรากฏในหลักศิลาจารึก ด้านที่ 1 ว่า " ในปากประตูมีกระดิ่งอันหนึ่งแขวนไว้นั้น ไพร่ฟ้าหน้าปกกลางบ้านกลางเมือง มีถ้อยมีความเจ็บท้องข้องใจ มันจัก กล่าวถึงเจ้าถึงขุนบ่ไร้ ไปลั่นกระดิ่ง และศิลาจารึก ด้านที่ 3 ว่า " ผิใช่วันสวดธรรม พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองศรีสัชนาลัยสุโขทัย ขึ้นนั่งเหนือขดารหิน ให้ฝูงท่วยลูกเจ้าลูกขุน ถือบ้านถือเมือง "

              นอกจากนั้นชาวสุโขทัยมีความยึดมั่นและเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา อยู่ในศีลในธรรม และปฏิบัติกิจการทางศาสนาเป็นประจำ เช่น มีการฟังเทศน์ ฟังธรรม รักษาศีล ทำบุญ ให้ทาน สร้างวัด ดังปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ 1 ว่า "วันเดือนดับ เดือนออก แปดวัน วันเดือนเต็ม เดือนบ้าง แปดวัน ฝูงปู่ครู มหาเถรขึ้นนั่งเหนือขะดารหิน สวดธรรมแก่อุบาสก ฝูงท่วย   จำศีล " และอีกตอนหนึ่งว่า "คนในเมืองสุโขไทนี้ มักทาน มักทรงศีล มักโอยทาน " เมื่อพระพุทธศาสนาเข้าถึงจิตใจ ประชาชนจึงเป็นผู้มีจิตเมตตากรุณาต่อ ผู้ตกทุกข์ได้ยาก ดังเช่น " ได้ข้าเลือก ข้าเสือหัวพุ่งหัวรบก็ดี บ่อฆ่าบ่ตี " เป็นต้น ดังนั้น ชาวสุโขทัยจึงอยู่ด้วยกันอย่างสงบสุข ประกอบกับเมืองสุโขทัยเป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ เพราะในน้ำมีปลา ในนามีข้าว จึงไม่มีการแก่งแย่ง มีแต่ความเสมอภาพเท่าเทียมกัน และได้รับความเป็นธรรมโดยทั่วหน้า"
              ด้านการศึกษาในสุโขทัย จะเป็นแนวสั่งสอนศีลธรรมและวิชาชีพ คือในวันพระหรือวันโกน พ่อขุนรามคำแหงจะประทับบน พระแท่นมนังคศิลากลางดงตาล สั่งสอน ศีลธรรมแก่ประชาชน ทั้งยังได้ติดต่อช่างชาวจีนมาสอนการทำเครื่องสังคโลก ส่วนวิชาชีพ และงานบ้าน งานเรือนต่าง ๆ มีการเรียนรู้และศึกษาจากผู้ใหญ่บ้านของตน
 
 
                          ประชาชนชาวสุโขทัย นอกจากจะมีอาชีพทำไร่ ทำนา ทำสวน แล้ว ยังมีอาชีพทำถ้วยชามสังคโลกขาย เพราะได้พบเตาทุเรียง มากมาย รวมทั้งยังขุดพบเศษถ้วยชามที่แตกชำรุด พร้อมทั้งวัสดุในการช่วยทำ ตลอดจนพบซากเรือสำเภาที่บรรทุกเครื่องสังคโลก จมอยู่แถบเกาะสาก จังหวัดชลบุรี ที่แสดงให้เห็นว่าได้มีการนำถ้วยชาม ส่งไปขายยังต่างประเทศ 
            สำหรับการค้าขายในเมืองสุโขทัย พ่อขุนรามให้เสรีภาพทางการค้าอย่างเต็มที่ ทั้งยังยกเลิกการเก็บภาษีผ่านด่านภายในประเทศ ซึ่งทำให้มีพ่อค้าเข้ามาทำการค้าขาย มากขึ้น  ตามหลักศิลาจากรึกล่าวไว้ว่า "เจ้าเมืองบ่เอา จกอบในไพร่ลู่ทาง เพื่อนจูงวัวไปค้า ขี่ม้าไปขาย ใครจักใคร่ค้าช้างค้า ใครจักใคร่ค้าม้าค้า ใครจักใคร่ค้าเงือนค้าทองค้า"
            การค้าขายในสุโขทัยตามปกติ นิยมซื้อขายแบบแลกเปลี่ยนสินค้าตามความพอใจ โดยจะตกลงซึ่งกันและกัน นอกจากไม่มีสินค้า ที่พอใจ หรือผู้นั้นมิได้เป็นผู้ค้าขายสินค้า จึงจะใช้เงินและเงินตราในสมัยนั้น จะใช้โลหะ เงินแท้ ทองคำแท้ และที่ต่ำสุดคือเบี้ย ซึ่งจะนิยมใช้กันมาก เบี้ยนั้นจะเป็นหอยขนาดเล็กคล้ายหอยสังข์ โดยจะเห็นได้ในค่าตอบแทนแก่ขุนนางทั้งหลายในสมัยต่อมา ที่เรียกกันว่า "เบี้ยหวัดเงินปี"
 
            ส่วนการเกษตรกรรมในที่ดินมากมายนอกกำแพงเมืองนั้น จะมีการชลประทานเพื่อการเกษตร คือ การสร้าง สรีดภงส์ หรือทำนบพระร่วง เป็นทำนบกั้นน้ำจากภูเขา และมีรางน้ำ นำไปยังไร่นาของราษฎร จึงทำให้สุโขทัยเต็มไปด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร มากมาย เช่น ข้าว หมาก พลู มะพร้าว มะขาม มะม่วง ขนุน
 

 ความรุ่งโรจน์ของกรุงสุโขทัย

          แม้กรุงสุโขทัยจะมีอายุยืนนานถึง 200 ปี มีพระมหากษัตริย์ราชวงศ์พระร่วงสืบต่อกันมา 9 รัชกาล แต่สุโขทัยก็มีอิสระเฉพาะ 120 ปีแรก ช่วงที่เจริญที่สุดคือ ในสมัยรัชกาลพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ดังในศิลาจารึก หลักที่ 1 กล่าวไว้ว่า
         "กลางเมืองสุโขทัย สร้างป่าหมาก ป่าพลูทั่วทุกแห่ง ป่าพร้าวก็หลายในเมืองนี้ ป่าลางก็หลายในเมืองนี้ หมากม่วงก็หลาย ในเมืองนี้ หมากขามก็หลายในเมืองนี้"
           กลางเมืองสุโขทัย มีตระพังโพย สีใสกินดีดังกินโขงเมื่อแล้ง มีพิหาร มีพระพุทธรูปทอง มีพระอัฎฐารศ มีพระพุทธรูปอันใหญ่ มีพระพุทธรูปอันราม มีพิหารอันใหญ่ มีพิหารอันราม มีเถร มหาเถร.."

                  ส่วนภายนอกเมืองสุโขทัย ก็มีความเจริญรุ่งเรืองเช่นเดียวกับภายในเมืองสุโขทัย เช่น "มีพิหาร มีปู่ครู มีทะเลหลวง มีป่าหมาก ป่าพลู มีไร่ มีนา มีถิ่น มีฐาน มีบ้านใหญ่ บ้านราม มีป่าม่วง ป่าขาม ดูงามดังแกล้ง..."

          นอกจากความเป็นอยู่ที่เจริญรุ่งเรืองของสุโขทัย และวัดวาอารามหลวง ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมากแล้ว สิ่งที่เป็นความรุ่งโรจน์อีกอย่างหนึ่งคือ สิ่งก่อสร้างที่เป็นสาธารณะประโยชน์ที่แสดงให้เห็นถึงระบบชลประทานอันยอดเยี่ยมของสุโขทัย คือ สรีดภงส์ พร้อม กับขุดคลองเชื่อมกับลำคลองธรรมชาติ แล้วนำน้ำไปเก็บไว้ในอ่างเก็บน้ำนอกเมือง และในเมือง ตามวัดวาอาราม รวมทั้งสิ้น 7 สรีดภงส์

ในด้านการค้า การอุตสาหกรรม

                         ได้ค้นพบเตาทุเรียงเป็นจำนวนมาก ตั้งเรียงรายอยู่เป็นกลุ่ม กำแพงเมืองเก่า ถึง 3 กลุ่ม รวม 49 เตา คือ ทางด้านทิศเหนือนอกตัวเมือง ข้างกำแพงเมืองทางทิศใต้ และทางทิศตะวันออก จนอาจเรียกได้ว่าเป็นนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสุโขทัยยุคพ่อขุนราม เป็นศูนย์การค้าและการผลิตที่ใหญ่ ในการผลิตถ้วยชามสังคโลก ซึ่งได้รับความนิยมแพร่หลายมีชื่อเสียงมาก ถึงกับเป็นสินค้าส่งออกไปขายยังต่างประเทศ เช่น หมู่เกาะบอร์เนียว ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย (ชวา) แม้ประเทศญี่ปุ่น ก็ปรากฏว่ามีเครื่องปั้นดินเผาสังคโลกสุโขทัย เป็นมรดกตกทอดจนถึงปัจจุบัน

            การขนส่งเครื่องปั้นดินเผาสังคโลกสมัยสุโขทัย ใช้เรือสำเภาบรรทุกไปในทะเล โดยได้ค้นพบเรือสินค้าสมัยสุโขทัย ที่บรรทุกเครื่อง ปั้นดินเผาสังคโลกสุโขทัยไปจมอัปปางลงในท้องทะเลลึกในอ่าวไทยเป็นอันมาก นอกจากนั้นยังมีการหารายได้เข้าประเทศ โดยการเป็นตัวแทนการค้า โดยรับสินค้าจากจีน เช่น ถ้วยชาม ผ้าไหม และอื่น ๆ เข้ามาขายในประเทศ และประเทศใกล้เคียงอีกด้วย
 
            ในด้านการค้า ได้ทรงเปิดศูนย์การค้าประจำเมืองสุโขทัยขึ้น ที่เรียกว่า" ตลาดปสาน "เพื่อชักจูงให้พ่อค้าต่างเมืองทั้งแดนใกล้ แดนไกล นำสินค้ามาซื้อขายแลกเปลี่ยน โดยไม่เรียกเก็บค่าภาษีอากร ทำให้มีชาวต่างประเทศ สนใจนำสินค้ามาค้าขายที่เมืองสุโขทัย ทำให้ชาวสุโขทัย รู้จักติดต่อกับคนต่างเมือง ต่างภาษา รู้จักวัฒนธรรมของเมืองอื่น ดังศิลาจารึก หลักที่ 1 ว่า
"เจ้าเมืองบ่เอาจกอบในไพร่ลู่ทาง เพื่อนจูงวัวไปค้า ขี่ม้าไปขาย ใครจักใคร่ค้าช้างค้า ใครจักใคร่ค้าม้าค้า ใครจักใคร่ค้าเงือนค้า
ทองค้า...."

ในด้านการปกครอง

           สมัยพ่อขุนรามคำแหงนี้ ทรงเป็นแบบอย่างระบบการปกครอง แบบประชาธิปไตย อันแสดงให้เห็นว่า เมืองไทยได้เคยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยมาแต่ครั้งสมัยสุโขทัยแล้ว เป็นประชาธิปไตยแบบที่มีพระเจ้าแผ่นดิน ทรงเป็นพระประมุขของชาติ หลักฐานที่ปรากฏในหลักศิลาจารึกชี้ให้เห็นชัดว่า ในสมัยพ่อขุนรามไม่มีคำว่า "ทาส" แต่จะเรียกเหล่าประชาชน ทั้งหลายว่า "ลูกบ้าน ลูกเมือง" "ฝู่งท่วย (ทวยราษฎร์)" "ไพร่ฟ้าข้าไท" "ไพร่ฟ้าหน้าปก" "ไพร่ฟ้าหน้าใส" ประชาชนทุกคน มีสิทธิ์เข้าร่วมประชุมรับฟัง และแสดงความคิดเห็นในการออกว่าราชการงานเมืองของพ่อขุนรามคำแหง กลางป่าตาลได้อย่างเสรี ไม่แบ่งชั้นวรรณะ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "ระบบพ่อปกครองลูก" ดังปรากฏในหลักศิลาจารึกว่า
      "หัวพุ่ง หัวรบ ก็ดีบ่ฆ่า บ่ตี ในปากปูตมีกดิ่งอันหนึ่งแขวนไว้หั้น ไพร่ฟ้าหน้าปกกลางบ้านกลางเมืองมีถ้อยมีความ เจ็บท้องข้องใจ มันจักกล่าวถึงเจ้าถึงขุนบ่ไร้ ไปลั่นกดิ่งอันท่านแขวนไว้ พ่อขุนรามคำแหงเจ้าเมืองได้ยินเรียก เมื่อถามสวนความแก่มันด้วยซื่อ ไพร่ในเมืองสุโขทัยนี้จึ่งชม..."
           การปกครองในแบบพ่อกับลูก นับเป็นคุณธรรมของพ่อเมือง จึงทำให้ประชาชนอยู่กันด้วยความร่มเย็นเป็นสุข
ด้วยกรุงสุโขทัย เป็นแคว้นใหญ่ มั่นคง และเข้มแข็ง เป็นที่รับรู้กันในแผ่นดินไทยและชาวต่างประเทศ เช่น จีน และแคว้นอื่น ๆ ในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ ดังมีหลักฐานตามเอกสารจีนบันทึกไว้ว่า ในระหว่างปี พ.ศ. 1835 ในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช และ ปี พ.ศ. 1866 รัชสมัยพระเจ้าเลอไท ไทยได้ส่งทูตติดต่อกับจีนหลายครั้งด้วยกัน โดยได้ส่งเครื่องราชบรรณาการไปถวาย จักรพรรดิ์จีน รวมทั้งได้เคยขอม้าขาว และของอื่น ๆ จากจีน เป็นการตอบแทนด้วย

จัดทำโดย
นางสาวศศิประภา ศรีวิไลเวช
นางสาวสาวิตรี เวชสมุทรวารี
โรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย กรุงเทพมหานคร
Copyright(c) 2006 Ms.Sasiprapa Sriviraivad Ms.Savitree Vajsarmutwaree. All rights reserved.

จำนวนผู้เข้าใช้งาน
ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2549

thaigoodview.com Version 13.0
บริหารและจัดการโดยทีมงานชาวมัธยมศึกษาและประถมศึกษา
e-mail: webmaster@thaigoodview.com