การให้เหตุผล ------->การให้เหตุผลแบบอุปนัย
แม้ว่าในปัจจุบันโลกมนุษย์จะก้าวหน้าไปถึง การสร้างสมองกลขึ้นมาให้ทำตามคำสั่งแต่สมองกลนั้นสามารถทำตามในสิ่งที่มนุษย์เรียบเรียงไว้อย่างเป็นระเบียบเท่านั้นไม่อาจคิดในเรื่องของเหตุผลได้เหมือนสมองจริงการคิดในเรื่องเหตุผลนี่เองที่ทำให้มนุษย์เหนือกว่าสิ่งอื่นใด...
ในชีวิตประจำวันเรามักจะพบคำถามเสมอว่า ทำไม เราจึงต้องมีการให้เหตุผลเช่น ครูถามนักเรียนว่า “ทำไมวันนี้นักเรียนขาดเยอะจัง” เหตุผลที่นักเรียนตอบอาจเป็น “ไม่สบายเป็นไข้หวัดครับ” เป็นต้น
การให้เหตุผลแบบอุปนัย
การให้เหตุผลแบบอุปนัย (Inductive Reasoning) เป็นการให้เหตุผลในลักษณะที่เหตุหรือสิ่งที่กำหนดให้ หรือข้อสมมุติ เพียงแต่สนับสนุนให้เกิดผลสรุปแต่ไม่สามารถยืนยันผลสรุป เนื่องจากเป็นการให้เหตุผลในลักษณะที่จะใช้การสังเกต ประสบการณ์ การคาดคะเน ใช้เหตุการณ์เฉพาะซึ่งเกิดขึ้นซ้ำกันหลาย ๆ ครั้ง หรือการทดลองหลายๆ ครั้งแล้วคาดคะเนผลสรุป หรือ สรุปเป็นกฎเกณฑ์ทั่วๆ ไป โดยผลสรุปที่ได้อาจเป็นจริงหรือไม่เป็นจริงก็ได้ อย่างไรก็ดีการหาข้อสรุปหรือความจริงโดยใช้วิธีการให้เหตุผลแบบอุปนัยนั้น ไม่จำเป็นต้องถูกต้องทุกครั้งเนื่องจากเป็นการสรุปผลเกินจากหลักฐานข้อเท็จจริงที่มีอยู่ ดังนั้นข้อสรุปจะเชื่อถือได้มากหรือน้อยเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับลักษณะของข้อมูลหลักฐานและข้อเท็จจริงที่นำมาอ้าง ซึ่งได้แก่
1) จำนวนข้อมูลหลักฐาน หรือข้อเท็จจริงที่นำมาเป็นข้อสังเกตหรือข้ออ้างอิงมีมากพอกับการสรุปความหรือไม่ เช่น ถ้าไปรับประทานอาหารที่ร้านแห่งหนึ่งแล้วเกิดท้องเสีย แล้วสรุปว่าอาหารที่ร้านดังกล่าวทำให้ท้องเสีย การสรุปจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวย่อมจะน่าเชื่อถือได้น้อยกว่าไปรับประทานอาหารที่ร้านดังกล่าวบ่อยๆแล้วท้องเสียแทบทุกครั้ง
2) ข้อมูลหลักฐานหรือข้อเท็จจริงเป็นตัวแทนที่ดีในการให้ข้อสรุปหรือไม่ เช่นถ้าอยากรู้ว่าคนไทยชอบกินข้าวเจ้า หรือข้าวเหนียวมากกว่ากันถ้าถามจากคนที่อาศัยอยู่ในภาคเหนือ หรือภาคอีสานคำตอบที่ตอบว่าชอบกินข้าวเหนียวอาจจะมีมากกว่าชอบกินข้าวเจ้าแต่ถ้าถามคนที่อาศัยในภาคกลางหรือภาคใต้ คำตอบอาจจะเป็นในลักษณะตรงข้าม
3) ข้อสรุปที่ต้องการมีความซับซ้อนมากน้อยเพียงใดเช่น ในเรื่องเกี่ยวกับจิตใจ ตัวอย่าง เช่นการมีลูกชายจะดีกว่าการมีลูกสาว เป็นต้นซึ่งความคิดในเรื่องดังกล่าวจะค่อนข้างซับซ้อนและขึ้นอยู่กับเหตุผลส่วนตัวของแต่ละคนซึ่งแตกต่างกัน