สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ พระบรมราชินีนาถ

 

พระราชประวัติ

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิต์ พระบรมราชินีนาถ เป็นพระธิดาองค์ใหญ่ของพลเอกพระวรวงศ์เธอ กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ (หม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร) กับหม่อมหลวงบัว กิติยากร พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาพระราชทานนามว่า “สิริกิต์” ซึ่งมีความหมายว่า “ผู้เป็นศรีแห่ง กิติยากร”
๑. หม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร
๒. หม่อมราชวงศ์ กัลยาณกิติย์ กิติยากร
๓. หม่อมราชวงศ์ อดุลกิต์ กิติยากร
๔. หม่อมราชวงศ์ สิริกิต์ กิติยากร
๕. หม่อมราชวงศ์ บุษบา กิติยากร

ทรงพระราชสมภพ เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๒ สิงหาคม พุทธศักราช ๒๔๗๕ ที่บ้านพลเอกเจ้าพระยาวงศานุประพันธ์ (หม่อมราชวงศ์สท้าน สนิทวงศ์) ผู้เป็นบิดาของหม่อมหลวงบัว ณ บ้านเลขที่ 1808 ถนนพระราหก ตำบลวังใหม่ อำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนคร ขณะนั้น เป็นระยะที่ประเทศเพิ่งเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบประชาธิปไตย ก่อนหน้านั้นพระบิดาของพระองค์ทรงดำรงตำแหน่งผู้ช่วยเสนาธิการทหารบก มียศเป็นพันเอกหม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร

หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองในวันที่ ๒๔ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๗๕ หม่อมเจ้านักขัตรมงคลต้องทรงออกจากราชการทหาร โดยรัฐบาลแต่งตั้งให้ไปรับราชการในตำแหน่งเลขานุการเอก ประจำสถานทูตสยาม ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกา ส่วนหม่อมหลวงบัว ยังคงพำนักอยู่ในประเทศไทย จนให้กำเนิดหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์แล้วจึงเดินทางไปสมทบมอบหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ให้อยู่ในความดูแลของเจ้าพระยาวงศา นุประพันธ์และท้าววนิดา พิจาริณี ผู้เป็นบิดาและมารดาของหม่อมหลวงบัว

หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ต้องอยู่ห่างไกลพระบิดามารดาตั้งแต่อายุพียงน้อยนิด บางคราวต้องระหกระเหินไปต่างจังหวัดกับพระบรมวงศานุวงศ์ตามเหตุการณ์ผันผวนทางการเมือง เช่น ในปีพุทธศักราช ๒๔๗๖ หม่อมเจ้าอัปษรสมาน กิติยากร พระมารดาของหม่อมเจ้านักขัตรมงคล ได้ทรงรับนัดดาตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวไปสงขลาด้วย

ปลายปีพุทธศักราช ๒๔๗๗ หม่อมจ้านักขัตรมงคล ทรงลาออกจากราชการ กลับประเทศไทยพร้อมครอบครัว อันมีหม่อมราชวงศ์กัลยาณกิติ์บุตรคนโตและหม่อมราชวงศ์บุษบาบุตรีคนเล็กผู้เกิดที่สหรัฐอเมริกาแล้วมารับหม่อมราชวงศ์อดุลยกิติ์บุตรคนรอง กับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์จากหม่อมเจ้าอัปษรสมาน กลับมาอยู่รวมกันที่ตำหนักซึ่งตั้งอยู่ที่ถนนกรุงเกษม ปากคลองผดุงกรุงเกษม ริมแม่น้ำเจ้าพระยา

หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์เริ่มเรียนชั้นอนุบาลที่โรงเรียนราชินี ปากคลองตลาดในพุทธศักราช ๒๔๗๙ แต่เมื่อสงครามมหาเอเชียบูรพาลุกลามมาถึงประเทสไทย จังหวัดพระนครถูกโจมตีทางอากาศบ่อย ๆ ทำให้การเดินทางไม่สะดวกและปลอดภัย หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ จึงต้องย้ายไปโรงเรียนที่โรงเรียนเซ็นต์ฟรังซิสซาเวียร์คอนแวนต์ และในเวลาต่อมาได้ตั้งใจที่จะเป็นนักเปียโนผู้มีชื่อเสียง

หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ได้เผชิญสภาพของสงครามโลกเช่นเดียวกับคนไทยทั้งหลาย พระบิดาผู้ทรงเป็นทหารเป็นผู้ปลูกฝังให้บุตร และบุตรีรู้จักความมีวินัย ความอดทน ความกล้าหาญ และความเสียสละ โดยอาศัยเหตุการณ์ในสงครามเป็นตัวอย่าง และสงครามก็ทำให้ผู้คนต้องหันหน้าเข้าช่วยเหลือกันในยามทุกข์ยากสิ่งเหล่านี้หล่อหลอมให้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์มีความเมตตาต่อผู้อื่น และรักความมีระเบียบแบบแผนมาตั้งแต่เยาว์วัย

หลังจากสงครามสงบแล้ว นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น คือ นายควง อภัยวงศ์ ได้แต่งตั้งให้หม่อมเจ้านักขัตรมงคลเป็นรัฐทูตวิสามัญและอัครราชทูตผู้มีอำนาจเต็มประจำสำนักเซ็นต์เจมส์ ประเทศอังกฤษ หม่อมเจ้านักขัตรมงคลจึงทรงพาครอบครัวทั้งหมดไปด้วยในกลางปีพุทธศักราช ๒๔๘๙ ขณะนั้นหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ เรียนจบชั้นมัธยมปีที่ ๓ ของโรงเรียนเซ็นต์ฟรังซิสซาเวียร์คอนแวนต์แล้ว

ระหว่างที่อยู่ในประเทศอังกฤษ หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ตั้งใจเรียนเปียโน ภาษาอังกฤษ และภาษาฝรั่งเศสกับครูพิเศษ แต่อยู่อังกฤษได้ไม่นานหม่อมเจ้านักขัตร มงคลก็ทรงย้ายไปประเทศเดนมาร์กและประเทศฝรั่งเศสตามลำดับ ระหว่างนี้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ยังคงตั้งใจเรียนเปียโนอย่างขะมักเขม้นเพื่อเตรียมสอบเข้าวิทยาลัยการดนตรีที่มีชื่อเสียงของกรุงปารีส

พุทธศักราช ๒๔๙๑ ขณะที่หม่อมเจ้านักขัตรมงคลและครอบครัวอยู่ในปารีส ได้รับเสด็จสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งโปรดเสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรโรงงานทำรถยนต์ในกรุงปารีสอยู่เสมอ จนเป็นที่คุ้นเคยต่อพระยุคลบาทและต้องพระราชอัธยาศัย ฉะนั้นเมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประสบอุปัทวเหตุทางรถยนต์ในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ต้องประทับรักษาพระองค์ในสถานพยาบาล จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้หม่อมหลวงบัวพาบุตรีทั้งสง คือหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ และหม่อมราชวงศ์บุษบา เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาทเยี่ยมอาการเป็นประจำ จนพระอาการประชวรทุเลาลง เสด็จกลับพระตำหนักได้ สมด็จพระราชชนนีได้รับสั่งขอให้หม่มอราชวงศ์สิริกิติ์อยู่ศึกษาต่อที่เมืองโลซานน์ในโรงเรียนประจำ Riante Rive ซึ่งเป็นโรงเรียนที่มีชื่อเสียงในการสอนวิชาพิเศษแก่กุลสตรี คือ ภาษา ศิลปะ ดนตรี ประวัติวรรณคดี และประวัติศาสตร์

ต่อมาอีก ๑ ปี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมเจ้านักขัตรมงคลและครอบครัวมาเฝ้าฯ แล้วสมเด็จพระราชชนนีรับสั่งขอหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ต่อหม่อมเจ้านักขัตรมงคล และประกอบพระราชพิธีหมั้นอย่างเงียบ ๆ ในวันที่ ๑๙ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๙๒ ทรงใช้พระธำมรงค์ที่สมเด็จพระราชบิดาทรงหมั้นสมเด็จพระราชชนนี เป็นพระธำมรงค์หมั้น แล้วคงให้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ศึกษาต่อไป จนเสด็จนิวัตพระนคร จึงโปรดเกล้าฯ ให้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ตามเสด็จกลับมาถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ในเดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓

วันที่ ๒๘ เมษายน พุทธศักราช ๒๔๙๓ มีพระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ณ วังสระปทุม สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าทรงเป็นประธานพระราชทานน้ำพระพุทธมนต์และเทพมนต์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชและหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ได้ทรงจดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย และในวันนั้นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงสถาปนาหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์เป็นสมเด็จพระราชินี

วันที่ ๕ พฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๙๓ เป็นวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับเฉลิมพระบรมนามาภิไธยว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” และทรงสถาปนาเฉลิมพระยศสมเด็จพระราชินีเป็น “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี”

วันที่ ๕ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๙๓ ทั้งสองพระองค์เสด็จกลับประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพราะแพทย์ผู้รักษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกราบบังคมทูลแนะนำให้ทรงพักรักษาพระองค์อีกระยะหนึ่ง พุทธศักราช ๒๔๙๔ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี มีพระประสูติกาลสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญาฯ ณ เมืองโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อเจริญพระชันษาได้ ๗ เดือน ทั้งสามพระองค์จึงเสด็จนิวัตประเทศ ประทับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถานพระราชวังดุสิต หลังจากนั้น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ฯ ซึ่งต่อมาทรงได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนราชสุดาฯ ซึ่งต่อมาทรงได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ฯ ได้ประสูติต่อมาตามลำดับ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน รวมพระราชโอรสและพระราชธิดา ๔ พระองค์

สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจน้อยใหญ่เป็นลำดับมา ทั้งในฐานะที่ทรงเป็นสมเด็จพระบรมราชินีของไทยและในฐานะคู่พระราชหฤทัยแห่งพระบาทสมเด็จพระจ้าอยู่หัว กล่าวคือ ทรงช่วยแบ่งเบาพระราชภาระทั้งหลายไปได้มาก อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมไทย ทรัพยากรธรรมชาติ และการพัฒนาประเทศอยู่เนือง ๆ เห็นได้ชัดจากพระราชกรณียกิจที่เผยแพร่สู่สายตาประชาชนอยู่ทุกวันนี้

 

 

สร้างโดย: 
ครูพูนศักดิ์ สักกทัตติยกุล โรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย กรุงเทพมหานคร

มหาวิทยาลัยศรีปทุม ผู้ใหญ่ใจดี
 

 ช่วยด้วยครับ
นักเรียนที่สร้างบล็อก กรุณาอย่า
คัดลอกข้อมูลจากเว็บอื่นทั้งหมด
ควรนำมาจากหลายๆ เว็บ แล้ววิเคราะห์ สังเคราะห์ และเขียนขึ้นใหม่
หากคัดลอกทั้งหมด จะถูกดำเนินคดี
ตามกฎหมายจากเจ้าของลิขสิทธิ์
มีโทษทั้งจำคุกและปรับในอัตราสูง

ช่วยกันนะครับ 
ไทยกู๊ดวิวจะได้อยู่นานๆ 
ไม่ถูกปิดเสียก่อน

ขอขอบคุณในความร่วมมือครับ

อ่านรายละเอียด

ด่วน...... ขณะนี้
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 
มีผลบังคับใช้แล้ว 
ขอให้นักเรียนและคุณครูที่ใช้งาน
เว็บ thaigoodview ในการส่งการบ้าน
ระมัดระวังการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย
อ่านรายละเอียดที่นี่ครับ

 

สมาชิกที่ออนไลน์

ขณะนี้มี สมาชิก 0 คน และ ผู้เยี่ยมชม 267 คน กำลังออนไลน์