ตลาดที่อยู่อาศัยยังเติบโตต่อเนื่องในปี 2566

รูปภาพของ pornchokchai
ตลาดที่อยู่อาศัยยังเติบโตต่อเนื่องในปี 2566
  AREA แถลง ฉบับที่ 383/2566: วันศุกร์ที่ 19 พฤษภาคม 2566

 

ผู้แถลง: ดร.โสภณ พรโชคชัย
ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย
บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส sopon@area.co.th https://www.facebook.com/dr.sopon4

 

 

            ดร.โสภณคาดตลาดที่อยู่อาศัยในปี 2566 ยังเติบโตต่อเนื่อง ไม่ได้ตกต่ำลงไปกว่าปี 2565 แต่อาจฟุบตัวลงในอีก 2-3 ปีข้างหน้าเพราะอุปทานล้นเกินซึ่งต้องระวัง การฟื้นตัวไม่ได้เกิดจากอุปสงค์จากต่างประเทศ แต่ในอนาคตอุปสงค์จากต่างประเทศจะมีบทบาทเพิ่มขึ้น

         ดร.โสภณ พรโชคชัย ประธานศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th) คาดการณ์ว่าจำนวนที่อยู่อาศัยที่เปิดตัวใหม่ในปี 2566 ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จะมีประมาณ 111,273 หน่วย หรือเพิ่มขึ้นกว่าปี 2565 ที่มีอยู่ 105,648 หน่วย อยู่ 5.3% ส่วนมูลค่าโครงการที่อยู่อาศัยทั้งหมด จะเป็นเงินประมาณ 478,611 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 6.0% จากที่เปิดตัวในปี 2565 รวมกันเป็นเงิน 451,520 ล้านบาท แสดงให้เห็นว่าตลาดที่อยู่อาศัยนี้ยังเติบโตอย่างต่อเนื่องหลังโรคระบาดไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2563-2564

 

การเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงการเปิดตัว

โครงการที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล พ.ศ.2565-6

รายการ                        ปี 2565             ปี 2566         เปลี่ยนแปลง

จำนวนหน่วย                 105,648          111,273                 5.3%

มูลค่า (ล้านบาท)            451,520          478,611                 6.0%

อ้างอิง: ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th)

 

            ทั้งนี้ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทยเคยแสดงตัวเลขว่าตลาดห้องชุดพักอาศัยในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลเริ่มอิ่มตัวก่อนเกิดโควิด-19 แล้ว และพอมาช่วงโควิด-19 ตลาดโดยรวมก็ตกต่ำลง โดยจะเห็นได้ว่าในช่วงปี 2562 มีการเปิดตัวโครงการใหม่ 118,975 หน่วย แต่พอในปี 2563 การเปิดตัวลดลงเหลือ 73,043 หน่วย หรือลดลง 39% ต่อเนื่องมาในปี 2564 การเปิดตัวยิ่งลดลงเหลือเพียง 60,489 หน่วย หรือลดลงอีก 17% พอในปี 2565 ก็กลับเปิดเพิ่มขึ้นเป็น 105,648 หน่วย หรือเพิ่มขึ้นถึง 75%

 

การเปลี่ยนแปลงจำนวนหน่วยเปิดใหม่ของที่อยู่อาศัย

ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล พ.ศ.2537-2566

อ้างอิง: ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th)

 

            ดร.โสภณได้เคยคาดการณ์ไว้ในช่วงโควิด-19 เมื่อปี 2564 แล้วว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์จะเริ่มต้นวงจรชีวิตใหม่คือฟื้นตัวในปี 2565 ต่อเนื่องไปอีก 2-3 ปี จนถึงราว 2567-2568 และหลังจากนั้นในปี 2569-2570 อาจมีโอกาสเกิดอุปทานล้นเกินจากการผลิตที่อยู่อาศัยออกมามากเกินไป และทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ตกต่ำลงมาอีกครั้งหนึ่ง  การผลิตล้นเกินจากการแข่งขันกันในตลาดจึงเป็นสิ่งที่พึงระวังเป็นพิเศษ

 

แบบจำลองการคาดการณ์การฟื้นตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

อ้างอิง: ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส (www.area.co.th)

 

            ข้อสังเกตประการหนึ่งก็คือ จากข้อมูลของศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย อุปสงค์จากต่างประเทศไม่ได้มีผลต่อการฟื้นตัวของตลาดที่อยู่อาศัยในปี 2565 แต่อย่างใด ทั้งนี้ก่อนเกิดโควิด-19 ในปี 2563 ปรากฏว่าในปี 2562 มีต่างชาติซื้อห้องชุดในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลรวมกันในมูลค่าประมาณ 14.6% แต่ในปี 2563 กลับเหลือเพียง 3.5% และปี 2564 ก็มีสัดส่วนเพียง 5.4% เท่านั้น มาในปี 2565 ต่างชาติมาซื้อเพิ่มขึ้นเป็น 11.1% ดังนั้นในแง่หนึ่งจะเห็นได้ว่าการฟื้นตัวของตลาดที่อยู่อาศัยเกิดจากการ “อั้น” ไม่ได้ซื้อในช่วงก่อน ต่างชาติจึงไม่ได้มีส่วนสำคัญต่อการฟื้นตัวของตลาดแต่อย่างใด

            ดร.โสภณคาดว่าในปี 2566 สัดส่วนที่ต่างชาติซื้ออาจจะกลับมา ณ ระดับ 15% ของมูลค่าทั้งหมด หรือ 10% ของจำนวนหน่วยทั้งหมด อย่างไรก็ตามในปี 2567 และ 2568 ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทยคาดการณ์ไว้ว่าสัดส่วนของผู้ซื้อชาวต่างชาติอาจเพิ่มสูงขึ้นไปอีกเป็นประมาณ 18% ของห้องชุดทั้งหมด ทั้งนี้ สัดส่วนของผู้ซื้อห้องชุดเพื่อการอยู่อาศัยจริง อาจมีเพียง 60% อีก 22% เป็นการซื้อของนักเก็งกำไรชาวไทย และอีก 18% เป็นการซื้อของชาวต่างชาติที่อาจซื้อเพื่ออยู่อาศัยเองและเพื่อการเก็งกำไร  และถ้ามีการเก็งกำไรมากขึ้นเรื่อยๆ และสัดส่วนผู้ซื้อจริงน้อยลงไปเรื่อยๆ ก็อาจทำให้ตลาดเกิดปัญหาได้ในที่สุด

            การฟื้นตัวของตลาดที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้เริ่มชัดเจนขึ้นแล้ว และอาจจะ “สะดุดขาตัวเองหกล้ม” ได้จากการเก็งกำไรและการผลิตที่อยู่อาศัยที่ไม่มีการควบคุมหรือไม่มีมาตรการป้องกัน เช่น การคุ้มครองผลประโยชน์ของคู่สัญญา ซึ่งไม่ใช่กฎหมายภาคบังคับ

 

 

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ในฐานเศรษฐกิจ 23-26 เมษายน 2566 หน้า 20

https://www.thansettakij.com/real-estate/562783

 

 


ผู้แถลง:
ดร.โสภณ พรโชคชัย (sopon@area.co.th) ประธาน ศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก. เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส หรือ AREA (www.area.co.th): ซึ่งเป็นองค์กรที่มีฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ภาคสนามขนาดใหญ่ที่สุดและปรับปรุงให้ทันสมัยที่สุดในประเทศไทย และดำเนินการเก็บข้อมูลต่อเนื่องมาตั้งแต่ พ.ศ.2537 เป็นศูนย์ข้อมูลที่มีความเป็นกลางทางวิชาการ และเป็นอิสระทางวิชาชีพ โดยไม่ถูกครอบงำโดยผู้มีส่วนได้ส่วนเสียใด ๆ สมาชิกของศูนย์ข้อมูลฯ ได้รับข้อมูลที่เป็น First-hand information ในเวลาเดียวกัน

มหาวิทยาลัยศรีปทุม ผู้ใหญ่ใจดี
 

 ช่วยด้วยครับ
นักเรียนที่สร้างบล็อก กรุณาอย่า
คัดลอกข้อมูลจากเว็บอื่นทั้งหมด
ควรนำมาจากหลายๆ เว็บ แล้ววิเคราะห์ สังเคราะห์ และเขียนขึ้นใหม่
หากคัดลอกทั้งหมด จะถูกดำเนินคดี
ตามกฎหมายจากเจ้าของลิขสิทธิ์
มีโทษทั้งจำคุกและปรับในอัตราสูง

ช่วยกันนะครับ 
ไทยกู๊ดวิวจะได้อยู่นานๆ 
ไม่ถูกปิดเสียก่อน

ขอขอบคุณในความร่วมมือครับ

อ่านรายละเอียด

ด่วน...... ขณะนี้
พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2558 
มีผลบังคับใช้แล้ว 
ขอให้นักเรียนและคุณครูที่ใช้งาน
เว็บ thaigoodview ในการส่งการบ้าน
ระมัดระวังการละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย
อ่านรายละเอียดที่นี่ครับ

 

สมาชิกที่ออนไลน์

ขณะนี้มี สมาชิก 0 คน และ ผู้เยี่ยมชม 327 คน กำลังออนไลน์