เมื่อมีอาการผิวแดงไหม้เกรียมและมีอาการแสบร้อนทุกครั้งที่ออกแดดพึงระลึกไว้เลยว่าท่านถูกพิษของแสงแดดเล่นงานเข้าแล้วและหากยังขืนปล่อยไว้เช่นนี้อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพและชีวิตได้ เพราะแสงแดดที่ส่องผ่านมายังพื้นผิวโลกประกอบด้วยแสงหลากหลายชนิดด้วยกัน ทั้งแสงที่มองเห็นด้วยตาเปล่า รังสีอัลตร้าไวโอเล็ต รังสีอินฟาเร็ด ฯลฯ และแสงที่ทำให้เกิดอันตรายต่อผิวหนังมากที่สุดคือ รังสีอัลตร้าไวโอเล็ต หรือที่เราเรียกว่า UV ซึ่งจะทำให้ผิวแดงไหม้ คล้ำแห้งกร้าน เหี่ยวย่น เป็นฯฝ้า ตกกระ แก่ก่อนวัยและอาจจะก่อให้เกิดมะเร็งของผิวหนังได้ในระยะยาวรังสี UV ที่ส่องผ่านมายังโลกของเราและเป็นอันตราต่อผิวมนุษย์สามารถแยกได้เป็น 2 ชนิดด้วยกัน คือ
1. รังสี UV - A เป็นรังสีที่มีช่วงคลื่นยาว ทำให้ผิวหนังมีสีคล้ำมากขึ้น ผิวจะแดง แต่น้อยกว่า UV -B เพราะรังสีจะผ่านทะลุเข้าไปทั้งชั้นหนังกำพร้า และชั้นหนังแท้ซึ่งทำอันตรายต่อโครงสร้างและเซลล์ผิวหนัง ทำให้ผิวหนังเหี่ยวย่นรวมทั้งช่วยเสริมฤทธิ์ของ UV -Bทำให้เกิดเป็นอันตรายต่อผิวหนังมากขึ้น
2. รังสี UV -Bเป็นรังสีช่วงคลื่นสั้นกว่า จะผ่านทะลุชั้นหนังกำพร้า และหนังแท้ชั้นบนเท่านั้น ทำให้เกิด SUNBURN ซึ่งมีอาการผิวบวมแดงและอาจพองปวดแสบร้อน ผิวไหม้และแห้ง กร้านคล้ำซึ่งเมื่อผิวถูกแดดเผาเป็นประจำจะทำให้เกิดมะเร็งผิวหนังได้
สำหรับวิธีป้องกันสามารถทำได้โดยการหลีกเลื่ยงการตากแดดในช่วงเวลาที่มีรังสีอัลตร้าไวโอเล็ตมากๆ คือเวลาประมาณ 10.00-15.00 น.หากจำเป็นต้องตากแดดก็ควรปกปิดผิวพรรณด้วยการใส่เสื้อแขนยาว คอปิด กางร่ม หรือใส่หมวกปีกกว้าง
สิ่งหนึ่งที่ไม่ควรละเลยเป็นอย่างยิ่งก็คือ การทาครีมกันแดดเป็นประจำอย่างสม่ำเสมอเพราะแม้จะอยู่ใต้ร่มไม้หรือชายคาบ้านก็ยังมีโอกาสได้รับรังสี UV เหมือนกับเวลาที่อยู่กลางแดด เพราะพื้นทราย พื้นน้ำ พื้นคอนกรีต สามารถสะท้อนรังสี UV เข้าสู่ผิวกายได้ หรือแม้กระทั้งในวันที่มีเมฆหมอกหนาก็ยังคงต้องทาครีมกันแดดเพราะเมฆหมอกไม่สามารถป้องกันรังสี UV ได้
ทั้งนี้การเลือกใช้หรือเลือกซื้อครีมกันแดดก็ควรเลือกชนิดที่เหมาะกับผิวและมีประสิทธิภาพในการป้องกันอย่างแท้จริง โดยครีมแดดที่มีวางขายตามท้องตลาดประกอบด้วยสารกันแดด 2 ชนิด คือ
1. Chemical sunscreen คือสารกันแดดที่สามารถดูดซึมรังสี UV โดยแบ่งเป็นสารที่ดูดซึมเฉพาะ UV -B ได้แก่ PABA และ cinnamate ส่วน ben-zophenone ดูดซึมได้ทั้ง UV - B และ UV - A บางส่วน และ dibenzoylmethane ดูดซึมได้เฉพาะ UV - A เท่านั้น สารกันแดดในกลุ่มนี้ทาแล้วไม่มีสี แต่มีข้อเสียงคืออาจจะเกิดอาการแพ้และระคายเคืองต่อผิวหนังได้
2. Physical sunscreen คือสารกันแดดที่สามารถสะท้อนและกระจายทั้ง UV - A และ UV - B ได้แก่ tetanium dioxide, zinc oxide สารเหล่านี้จะไม่เกิดอาการแพ้แต่ทาแล้วอาจทำให้หน้าขาวทึบไม่สวยงาม แต่ปัจจุบันนี้มีตัวยา microfined titanium dioxide ซึ่งทาแล้วหน้าไม่ขาวมาก และไม่เกิดอาการระคายเคืองต่อผิวหนัง นอกจากความสำคัญของสารประกอบที่มีอยู่ในครีมกันแดดแล้ว ความสามารถในการดูดซึมและกันน้ำก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องพิจารณาควบคู่กับการเลือกซื้อทุกครั้ง
SPF หรือ sun protection factor คือ ความสามารถของครีมกันแดดที่จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดอาการแดงไหม้หลังจากตากแดดโดยจะแสดงเป็นตัวเลข เช่น หากคนๆหนึ่งตากแดด 30 นาที แล้วผิวแดงไหม้แสบ แต่ถ้าทาครีมกันแดดที่มี SPF 8 หมายความว่าคนๆนั้น สามารถตากแดดได้นานเป็น 8 เท่า คือประมาณ 4 ชั่วโมง โดยไม่มีอาการแดงไหม้
สำหรับผิวชาวเอเชียหรือคนไทย ครีมกันแดดที่เลือกใช้ควรมีค่า
SPF=15 ก็เพียงพอแล้วสำหรับที่จะใช้ในชีวิตประจำวันซึ่งถูกแดดไม่มากและควรใช้อย่างสม่ำเสมอ แต่ถ้าไปเที่ยวชายทะเลหรือเล่นกีฬากลางแจ้งก็ต้องใช้ SPFที่สูงขึ้น โดยเฉพาะเวลาที่ว่ายน้ำควรเลือกครีมกันแดดที่กันน้ำได้และควรทาซ้ำทุกๆ 2 ชั่วโมงสำหรับเด็กๆที่เรียนว่ายน้ำหรือวิ่งเล่นตามชายหาดก็ควรทาครีมกันแดดอย่างสม่ำเสมอด้วยเช่นกัน เพราะรังสีอัลตร้าไวโอเล็ตจะมีผลเสียต่อผิวหนังแบบสะสม ดังนั้นการใช้ครีมกันแดดตั้งแต่เด็กจะป้องกันผลเสียจากแสงแดดได้ดีกว่าตอนเป็นผู้ใหญ่
สร้างโดย:
สุพัฒน์กุล ภัคโชค
แหล่งอ้างอิง:
http://www.siamswim.com/knowleage/sun.html