บายศรีสู่ขวัญ

 

 

 

[พิธีเอาขวัญคนป่วย
[งานศพ
[บายศรีสู่ขวัญ] 

 

 

      ประเพณีบายศรีสู่ขวัญนี้ ถือเป็นประเพณีที่เก่าแก่ของตำบลหันทราย เป็นการเรียกให้ขวัญมาอยู่กับตัว ซึ่งจะทำเมื่อมีการต้อนรับแขก หรือส่งตัวคนที่ต้องเดินทางจากบ้านไปไกล ภาษา   ชาวบ้านเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า การพาขวัญ   ทำเพื่อให้เกิดสิริมงคลแก่ลูกหลาน หรือแขกที่มาเยือน

      ในพิธีแต่งงานก็จะมีการทำบายศรีสู่ขวัญให้ เพื่อที่จะได้อยู่เป็นคู่ครองกันไปตลอด ซึ่งคนที่จะมาเป็นหมอสู่ขวัญในพิธีแต่งงานนี้จะต้องไม่เคยเป็นหม้าย หรือหย่าร้างมาก่อน หมอสู่ขวัญจะเป็นผู้ดูฤกษ์ให้ว่าตอนไหนเป็นเวลาดี ส่วนมากจะให้เป็นเวลาที่มีเลข 9 นำ เช่น 8.29 นาที จะดูตามฤกษ์ยาม แล้วแต่คู่ ได้เวลาเท่าไรก็ต้องทำพิธีตอนนั้น ซึ่งจะทำพิธีได้ตั้งแต่เวลาตีห้าเป็นต้นไป แต่ห้ามเกินเวลาเที่ยงวัน นอกจากเป็นการทำพิธีบายศรีส่งตัวผู้ที่จะต้องเดินทางไป ไกลบ้าน จะทำตอนกี่โมงก็ได้ ไม่มีการกำหนดเวลา

      หมอสู่ขวัญต้องเป็นผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และเป็นผู้ที่ร่ำเรียนมา โดยต้องเรียนหนังสือ เจ็ดตำนาน ซึ่งในสมัยก่อนจะเป็นคัมภีร์ใบลาน และต้องสามารถท่องคาถาปากเปล่าได้จนหมด  ทั้งเล่ม

      พานบายศรีที่ใช้ในพิธีบายศรีสู่ขวัญ จะต้องทำ 3 ช่อ 3 ชั้น เป็นอย่างน้อย ถ้าเป็นคนที่มี   ฝีมือก็จะทำเป็น 5 ชั้น โดยใช้ใบตอง และดอกไม้สด ส่วนมากนิยมใช้ดอกรัก ดอกมะลิ ดอกดาวเรือง และดอกบานไม่รู้โรย นอกจากนี้ในพานบายศรียังประกอบไปด้วย ไข่ กล้วย ข้าวสวย เหล้าขาว ข้าวต้มมัด  และเงินค่ายกครู หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า คาย  ซึ่งค่ายกครูของแต่ละคนจะมีจำนวนไม่เท่ากัน  ในขันค่ายกครูก็จะมี ดอกไม้ ธูปเทียน วางอยู่ด้วย

      การทำบายศรีให้คนจำนวนมากจะต้มไข่ตามจำนวนคน แล้วเขียนชื่อของแต่ละคนไว้ที่ไข่     ใส่รวมกันไว้ในพาน แต่ถ้าเป็นการทำบายศรีให้คนจำนวนน้อย แค่คนเดียวหรือสองคนก็จะเอาไข่ใส่ไว้ในพานบายศรีได้เลย ใครที่มีโชคดีหรือโชคร้ายก็จะเห็นได้จากไข่ คนที่ดวงดีเมื่อปอกเปลือกไข่ออกไข่ก็จะงาม ส่วนใครที่กำลังมีเคราะห์ เมื่อปอกเปลือกไข่ออกก็จะเห็นไข่แดงออกมา

      ในการทำพิธีจะเริ่มโดยการตั้งนะโม 3 จบ  แล้วสวดคาถาที่ใช้ในพิธีบายศรีสู่ขวัญ  อ่านชื่อให้ครบทุกคน คนที่เข้าทำพิธีก็จะนั่งพนมมือจนว่าคาถาจบ จากนั้นก็เป็นพิธีผูกข้อมือ โดยใช้     ด้ายสีขาว หมอสู่ขวัญจะเป็นคนผูกข้อมือให้ก่อนจนครบทุกคน แล้วชาวบ้านที่มาร่วมพิธีก็จะ    เข้ามาผูกข้อมือให้ด้วย แต่ชาวบ้านไม่จำเป็นต้องผูกข้อมือให้จนครบทุกคน ในระหว่างที่ผูกข้อมือ ก็จะมีการอวยชัยให้พรกันด้วย  เป็นอันเสร็จพิธี

 

bar_green.gif

จัดทำโดย
นางพรพี ดุจเฉลิม โรงเรียนบ้านหันทราย จังหวัดสระแก้ว
copyright (c) Ms.Pronrapee Dujchaloem. All right reserved.

จำนวนผู้เข้าใช้งาน
ตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2550

thaigoodview.com Version 13.0
บริหารและจัดการโดยทีมงานชาวมัธยมศึกษาและประถมศึกษา
e-mail: webmaster@thaigoodview.com

Copyright(c) 2006 www.thaigoodview.com. All rights reserved.