ศาสนา
Homeพระมหากษัตริย์ศาสนาวันสำคัญอื่นๆ

 

 

วันสำคัญหลักๆทางศาสนา ในปี 2550 นี้ จะประกอบด้วย

13. วันมาฆบูชา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 3 หรือวันที่ 3 มีนาคม 2550 เป็นวันที่พระอรหันต์ที่พระพุทธเจ้าทรงบวชให้จำนวน 1,250 รูปมาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย พระพุทธองค์จึงได้ทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์ในที่ประชุมสงฆ์เหล่านั้น ปัจจุบันเราถือว่าวันนี้เป็น “วันแห่งความรักทางพุทธศาสนา” ทั้งนี้  เนื่องจากวันดังกล่าวได้เกิดเหตุการณ์พิเศษที่เรียกว่า “จาตุรงคสันนิบาต” ขึ้น  และเป็นวันที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ประกาศหลักการ และอุดมการณ์แห่งพุทธศาสนา อันมีเนื้อหาหลัก ว่าด้วยการส่งเสริมให้มวลมนุษย์ตั้งมั่นในการทำความดี ละความชั่ว  ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน  นั่นก็คือ ทรงสอนให้ทุกคนมีความรักอันยิ่งใหญ่  เป็นรักที่ไม่เห็นแก่ตัว  เพราะสอนให้รู้จักรัก และเมตตาต่อเพื่อนร่วมโลก โดยมีพระสงฆ์เป็นผู้นำพระธรรมคำสั่งสอนดังกล่าวไปเผยแพร่

 

14. วันวิสาขบูชา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 6 (ปีนี้เป็นปีอธิกมาสจึงเลื่อนไปเป็นวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 7) ซึ่งตรงกับวันที่ 31 พฤษภาคม เป็นวันคล้ายวันประสูติ ตรัสรู้และปรินิพพานขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งสิ่งที่สำคัญยิ่ง ในการบังเกิดพระพุทธเจ้าในโลกก็คือ “ธรรมะ” ที่พระองค์ทรงตรัสรู้ อันเป็นหลักในการดำเนินชีวิต ทรงเปรียบเสมือนบรมครูผู้มาสอน มาชี้แนะแก่มวลมนุษย์  มิฉะนั้นคนเราก็คงไม่รู้จักหนทางแห่งการปฏิบัติธรรม เพื่อล่วงพ้นความทุกข์เป็นแน่แท้ และวันวิสาขบูชา นี้องค์การสหประชาชาติได้มีมติรับรองให้ เป็นวันสำคัญสากล เมื่อปี พ.ศ.2542

 

15. วันอาสาฬหบูชา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 8 หรือวันที่ 29 กรกฎาคม 2550 เป็นวันที่มีพระพุทธ  พระธรรม และพระสงฆ์ครบเป็นองค์รัตนตรัยครั้งแรกในโลก ซึ่งพระสงฆ์องค์แรกคือพระอัญญาโกณฑัญญะ และปฐมเทศนาที่ทรงแสดงคือ ธรรมจักกัปวัตนสูตรหมายถึง พระสูตรว่าด้วยการยังธรรมจักรให้เป็นไป นั่นคือ ธรรมะของพระพุทธองค์เหมือนวงล้อธรรมที่ได้เริ่มเคลื่อนแล้วจากจุดเริ่มต้นในวันนี้

 

16. วันเข้าพรรษา ตรงกับวันที่ 30 กรกฎาคม 2550 เป็นวันเริ่มต้นที่พระภิกษุสงฆ์ จะต้องอธิษฐานจำพรรษาอยู่กับที่ ไม่เที่ยวจาริกไปยังที่ต่างๆ เป็นเวลา 3 เดือน นับตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำเดือน 8 ถึงวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 ของทุกปี (30ก.ค.-26 ต.ค.) ซึ่งการให้จำพรรษาในสมัยพุทธกาล ก็เพื่อป้องกันมิให้พระสงฆ์ไปเหยียบย่ำข้าว และพืชผลของชาวบ้านเสียหาย ต่อมาถือเป็นโอกาสดีที่พระภิกษุ จะได้มาอยู่ร่วมกันเพื่อศึกษาธรรมะ ส่วนชาวบ้านก็ได้เข้าวัดถวายทาน  รักษาศีล  ฟังธรรม และเจริญภาวนา เพื่อเพิ่มพูนบุญกุศลโดยมีพระภิกษุเป็นแบบอย่าง ครั้นต่อมาจึงเกิดประเพณีนิยมบวช 3 เดือน  ขณะเดียวกันก็มีพุทธศาสนิกชนจำนวนหนึ่งนิยม ถือเอาวันเข้าพรรษาเป็นวันเริ่มต้นที่จะอธิฐานจิตลด ละ ความชั่วทั้งหลาย และทำความดีเพิ่มขึ้น สำหรับประเพณีที่เกี่ยวเนื่องกับวันนี้คือ การถวายผ้าอาบน้ำฝนและการแห่/ถวายเทียนพรรษา

 

17. วันออกพรรษา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 11 หรือวันที่ 26 ตุลาคม 2550 เป็นวันที่พระภิกษุพ้นข้อกำหนดทางวินัยที่จะอยู่จำพรรษา นับตั้งแต่วันเข้าพรรษาเป็นต้นมา  และสามารถจาริกไปค้างแรมที่อื่นได้  ซึ่งจะมีประเพณีที่เกี่ยวข้อง คือ การตักบาตรเทโวโรหนะ คือวันถัดจากวันออกพรรษา 1 วัน (27 ต.ค.50) ซึ่งพุทธศาสนิกชน มักจะตักบาตรในวันนี้ ด้วยนิยมว่าเป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้า เสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หลังจากเสด็จไปโปรดพุทธมารดาอยู่ 3 เดือน และถัดจากออกพรรษา 1 เดือนถือเป็นเทศกาลกฐิน ที่จะทำบุญถวายผ้ากฐินตามวัดต่างๆ

  

  จำนวนผู้เข้าใช้งาน
ตั้งแต่วันที่ี่ 04 มิถุนายน 2551

 จัดทำโดย
ครูพูนศักดิ์ สักกทัตติยกุล
โรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย กรุงเทพมหานคร