เกร็ดความรู้
เนื้อเรื่องสามก๊กประวัติประโยชน์เกร็ดความรู้

 

 

 

 

เล่าปี่ 
กวนอู 
เตียวหุย 
จูล่ง 
โจโฉ 
ขงเบ้ง 
ซุนกวน 
อ้วนเสี้ยว 
อ้วนสุด 
ลิโป้ 
ภาคผนวก 1 
ภาคผนวก 2 

 

 

 

             
 

สามก๊กเป็นยุคสมัยที่เกิดจากสภาพการคานอำนาจกันของกองกำลัง 3 ฝ่ายอันได้แก่ ก๊กวุ่ย(魏国) ก๊กสู(蜀国) และก๊กอู๋(吴国) ที่ต่างก็แย่งชิงกันเป็นใหญ่ โดยช่วงปีค.ศ. 220 นั้นเป็นเวลาที่วุ่ยขึ้นครองอำนาจใหญ่แทนราชวงศ์ฮั่นตะวันออก และเมื่อถึงปีค.ศ. 280 ราชวงศ์จิ้น (晋)ปราบก๊กอู๋ได้สำเร็จรวมแผ่นดินจีนเข้าด้วยกันอีกครั้ง*
 
ก่อนจะมาเป็นสามก๊ก
       
ปีค.ศ. 189 ปลายยุคฮั่นตะวันออก ฮั่นหลิงตี้(汉灵帝)เสด็จสวรรคต รัชทายาทหลิวเปี้ยน(刘辫)สืบทอดราชบัลลังก์ต่อมาเป็นฮั่นเส้าตี้ (汉少帝)แต่พี่ชายของเหอไทเฮาคบคิดกับขุนนางฝ่ายกลาโหมหยวนเส้าหรืออ้วนเสี้ยว (袁绍)กวาดล้างขุนนางที่เป็นปฏิปักษ์ เป็นเหตุให้บ้านเมืองระส่ำระสายอย่างหนัก ต่งจัวหรือตั๋งโต๊ะ(董桌)ที่เป็นขุนนางครองเมืองปิงโจวใช้สถานการณ์วุ่นวายดังกล่าว เป็นข้ออ้างยกกองกำลังเข้าลั่วหยังเพื่อให้ความช่วยเหลือ เมื่อกองทัพของตั๋งโต๊ะเข้าสู่ลั่วหยังแล้ว ก็ถอดถอนฮั่นเส้าตี้และสถาปนาหลิวเสีย(刘协)ผู้เป็นน้องขึ้นเป็นฮ่องเต้ ทรงพระนามว่า ฮั่นเสี้ยนตี้ (汉献帝)โดยตั๋งโต๊ะกุมอำนาจสั่งการไว้ในมือ เป็นเหตุให้ขุนนางเก่าที่ไม่เห็นด้วยลุกฮือขึ้นต่อต้าน เกิดเป็นสงครามภายในติดตามมา

ฝ่ายอ้วนเสี้ยวนั้น เมื่อตั๋งโต๊ะกรีฑาทัพเข้าลั่วหยัง ก็หลบหนีไปยังเมืองจี้โจว(ปัจจุบันอยู่ในมณฑลเหอเป่ยทางภาคเหนือของจีน) เรียกร้องให้บรรดาผู้ครองแคว้นรอบนอกรวมกำลังกันเพื่อปราบตั๋งโต๊ะ ซึ่งก็ได้รับเสียงสนับสนุนให้อ้วนเสี้ยวเป็นผู้นำ เมื่อถึงปีค.ศ. 190 ตั๋งโต๊ะบีบบังคับฮั่นเสี้ยนตี้เสด็จลี้ภัยไปยังนครฉางอัน ในขณะที่กองกำลังของตั๋งโต๊ะเต็มไปด้วยการแก่งแย่งอำนาจกัน อีก 3 ปีต่อมาเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการทหาร (เป็นที่มาของตำนานการเสียสละของเตียวเสี้ยน (貂蝉)หนึ่งในสี่หญิงงามแห่งยุคของจีน) ตั๋งโต๊ะถูกสังหาร บ้านเมืองจึงเกิดโกลาหลครั้งใหญ่
       
       
ท่ามกลางความวุ่นวายนี้ เฉาเชาหรือโจโฉ(曹操)ซึ่งเคยประกาศตัวเป็นแนวร่วมกับอ้วนเสี้ยวเมื่อครั้งต่อต้านตั๋งโต๊ะนั้น หลังจากสยบกองกำลังโพกผ้าเหลืองกว่าสามแสนไว้ได้แล้ว ก็สั่งสมอำนาจขึ้นเป็นใหญ่ในดินแดนเหอหนัน ปีค.ศ. 196 บีบบังคับให้ฮั่นเสี้ยนตี้เสด็จย้ายที่ประทับไปยังเมืองสวี่ชางในเหอหนันแล้ว ก็เข้ากุมอำนาจสั่งการเหล่าขุนนางทั้งปวง และหันมาประจันหน้ากับฝ่ายอ้วนเสี้ยวที่เป็นใหญ่ในแถบเหอเป่ย เมื่อถึงปีค.ศ. 200 สองฝ่ายทำศึกตัดสินแพ้ชนะที่กวนตู้ (官渡之战)โจโฉเป็นฝ่ายชนะเข้าครองที่ราบภาคกลางและภาคเหนือของจีนไว้ได้
       
       
เมื่อถึงปีค.ศ. 208 โจโฉกรีฑาทัพลงใต้ ปราบหลิวเปี่ยว(刘表)ที่ครองเมืองจิงโจวในขณะนั้น หลิวเป้ยหรือเล่าปี่(刘备)ที่เป็นเชื้อพระวงศ์ของฮั่นอาศัยอยู่ด้วยหลิวเปี่ยวต้องอพยพลงใต้อีกครั้ง นำกำลังที่หลงเหลืออยู่น้อยนิดร่วมมือกับซุนเฉวียนหรือซุนกวน(孙权)ที่คุมอำนาจอยู่ในเจียงตง(ฝั่งตะวันออกของแม่น้ำแยงซี) และแล้วด้วยปัญญาของจูเก๋อเลี่ยงหรือจูกัดเหลียง(ขงเบ้ง)(诸葛亮)ที่เป็นมันสมองฝ่ายเล่าปี่และกำลังทหารจากซุนกวนผนึกกำลังต้านทัพใหญ่ของโจโฉในการศึกที่ชื่อปี้ (赤壁之战)ผลคือโจโฉพ่ายแพ้ย่อยยับ จำต้องล่าทัพกลับไปภาคเหนือ ขณะที่เล่าปี่ฉวยโอกาสเข้ายึดจิงโจวกลับคืนมา อีกทั้งเข้ายึดเฉิงตูเป็นที่มั่น ก่อเกิดเป็นสภาพขุมกำลังสามเส้าคานอำนาจกัน อันเป็นที่มาของยุคสมัยสามก๊ก

       

 

จัดทำโดย

นางสาวธัชชา ไตรทอง ม.6/3 เลขที่ 4

นางสาวกานต์สินี บุญพัชรนนท์ ม.6/3 เลขที่ 35

โรงเรียนสตรีศรีสุริโยทัย กรุงเทพมหานคร

Copyright(c) 2006 Ms. Tatcha Trithong.Ms. Karnsinee Boonpatcharanon. All right reserved.

จำนวนผู้เข้าใช้งาน
ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2549

thaigoodview.com Version 13.0
บริหารและจัดการโดยทีมงานชาวมัธยมศึกษาและประถมศึกษา
e-mail: webmaster@thaigoodview.com