ลักษณะของสัญญาณไฟฟ้าที่รับส่งกัน  
 

ตามปกติคอมพิวเตอร์ทำงานกับสัญญาณที่เป็นระบบดิจิตอล คือแทนด้วย 0 กับ 1 หรือแรงดันไฟฟ้าสูงกับต่ำในระบบ LAN การส่งข้อมูลในลักษณะของสัญญาณดิจิตอลธรรมดานี้เรียกว่าแบบ Baseband คือใช้ความถี่พื้นฐานของสัญญาณข้อมูลจริง ไม่ได้ปรับปรุงแต่งเติมแต่อย่างใด แต่การส่งแบบนี้มีปัญหาคือถูกรบกวนได้ง่ายด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือสัญญาณรบกวนต่างๆ เพราะสัญญาณไฟฟ้ามีรูปแบบไม่นอน แล้วแต่ตัวข้อมูลจริง ถ้ามีอะไรแปลกปลอมเข้ามาก็แยกได้ยากว่าอะไรเป็นข้อมูล อะไรเป็นสิ่งแปลกปลอม ดังนั้นจึงมีการนำเอาคลื่นความถี่สูงเข้ามาใช้เป็นคลื่นพาหะ (Carrier) โดยผสมสัญญาณข้อมูลเข้ากับคลื่นพาหะนี้ในแบบของการผสมทางความถี่ (Frequency Modulation : F.M.) แบบเดียวกับการส่งวิทยุกระจายเสียง FM นั่นเอง แต่เนื่องจากสัญญาณที่เราผสมเข้าไปในคลื่นพาหะนี้มีเพียง 2 ระดับ คือ 0 กับ 1 ดังนั้นคลื่นที่ส่งจึงมีลักษณะเป็นความถี่สลับกันไป หรือในบางกรณีอาจใช้การผสมสัญญาณตามจังหวะ หรือ เฟส (phase) ของสัญญาณก็ได้ การที่นำคลื่นพาหะมาใช้นี้ทำให้ผู้รับสามารถแยกความแตกต่างระหว่างข้อมูล 0 กับ 1 ได้ดีขึ้นโดยดูจากความถี่ ซึ่งรบกวนได้ยากกว่า และการที่ใช้สัญญาณความถี่สูง (แถบความถี่กว้าง) มาช่วยในการส่งข้อมูลนี้ ทำให้เรียกวิธีการดังกล่าวนี้ว่า Broadband วิธีการนี้ดูเหมือนจะมีประสิทธิภาพดีกว่าการส่งในแบบ Baseband และส่งได้ด้วยความเร็วสูงกว่า แต่ก็เสียค่าใช้จ่ายมากกว่า เพราะต้องเพิ่มอุปกรณ์ในการจัดการกับสัญญาณที่ความถี่สูงๆ ระดับความถี่วิทยุ (RF : Radio Frequency) เข้าไปด้วย ในปัจจุบัน ระบบ LAN ทั่วไปจึงยังใช้การรับส่งสัญญาณแบบ Baseband เป็นหลัก ส่วน Broadband จะใช้กับการรับส่งผ่านสายที่ลากเป็นระยะไกลๆ เช่น ในการเชื่อมต่ออินเตอร์เน็ตโดยใช้ระบบ ADSL เป็นต้น

การรับส่งสัญญาณผ่านสายไฟเบอร์ออปติคนั้นก็จะใช้สัญญาณแสงแบบ Broadband โดยผสมสัญญาณดิจิตอลเข้ากับสัญญาณแสงซึ่งมีความถี่สูงกว่าคลื่นวิทยุขึ้นไปอีก ทำให้สามารถรับส่งข้อมูลได้ในอัตราสูง

 
ไปบนสุด